แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ดวงตาเห็นธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ดวงตาเห็นธรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม 10


ดวงตาเห็นธรรม 10 (จบหลักสูตร)
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
     พุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ทำให้คนเป็นบ้า แต่จะทำให้คนบ้าหายบ้ากลับมาเป็นคนดี และทำคนดีให้เป็นพระอริยบุคคล ยกตัวอย่างนางปฏาจารา เล่าสั้นๆ ว่าเธอเคยเป็นลูกสาวเศรษฐีมีฐานะร่ำรวยมาก แต่ต้องเป็นบ้าเพราะกระทบกับอารมณ์อันหนักเธอต้องสูญเสียทุกอย่าง ทั้งสามี ลูกน้อยอีก ๒ คน พ่อแม่พี่ชาย และบ้านก็ถูกไฟไหม้ หมดที่พี่งทุกสิ่งทุกอย่าง เธอมีความทุกข์ใจมากจนผู้หญิงคนหนึ่งรับสภาพนั้นไม่ได้ เธอจึงกลายเป็นคนวิกลจริตไปในที่สุด เธอไม่รู้สึกตัวขาดสติ ไม่มีความละอาย แก้ผ้าเดินอยู่ตามถนนในเมืองสาวัตถี ต้องขอทานเขากินไปวันๆ หนึ่ง ไปที่ไหนก็ถูกเขาไล่ถูกคนรังเกียจ แต่เธอกลับเป็นผู้หญิงที่โชคดีมากเมื่อเธอได้พบพระพุทธเจ้า และได้ฟังคำสอนจากพระองค์ เธอได้สติ อาบน้ำชำระกายให้สะอาด นุ่งผ้าให้เรียบร้อยเพื่อเข้าสังคม เธอตั้งใจรับคำสอนจากพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเธอ ไม่นานเธอก็ได้บวชเป็นภิกษุณี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา เธอได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้ที่เลิศทางพระวินัย

     อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องพระสุปปพุทธะ เดินท่านเป็นคนขอทานเป็นโรคเรื้อน ต้องถือกระเบื้องไปขอทานเขากิน ไปไหนก็มีแต่คนรังเกียจ วันหนึ่งท่านถือกระเบื้องขอทานไม่ได้อาหารเลย ไปเห็นกลุ่มพระสาวกซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ก็คิดว่าอาจจะมีอาหารเหลืออยู่บ้าง เมื่อเข้าไปใกล้ก็ถูกพระสาวกไล่ พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสาวกไม่ให้ไล่ สุปปะพุทธะเห็นว่าไม่มีอาหารแน่แล้วก็เลยวางกระเบื้องตั้งใจฟังธรรม เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบ สุปปพุทธะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อหน้าพระพักตร์นั่นเอง นี่แสดงให้เห็นว่าความลำบากยากจน ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเจริญปัญญาสัมมาทิฏฐิในพระพุทธศาสนาเลย

ดวงตาเห็นธรรม 9


ดวงตาเห็นธรรม 9
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
    ทุกข์แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ 
๑. ทุกข์กาย (กายิกทุกข์ Bodily pain) ประกอบด้วย ก.ทุกขลักษณะ ได้แก่ เกิด แก่ ตาย เป็นต้น ข.ทุกขเวทนา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกอย่างนี้เป็นคุณสมบัติของชีวิต เมื่อมีชีวิตก็ต้องมีทุกข์กายเป็นธรรมดา เมื่อมีความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องไปหาหมอให้รักษา ทุกข์กายนี้ เป็นทุกข์ที่แก้ไขไม่ได้ เพียงแต่ให้บรรเทาลงได้บ้างก็เป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายไม่มีใครพ้นได้แม้แต่พระพุทธเจ้าก็จะต้องปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปี

๒. ทุกข์ใจ (เจตสิกทุกข์ Mental pain) เรียกว่า ทุกข์อุปาทาน คือทุกข์ที่เกิดจากความรู้ผิด (อวิชชา) เห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) และจำเอาไว้ผิดๆ (สัญญาวิปลาส) แล้วยึดมั่นในสิ่งผิดๆ นั้นอย่างเหนียวแน่น โดยไม่รู้ตัว (อุปาทาน) ผลก็คือเกิดความทุกข์ใจเพราะความยึดมั่นนั้นๆ ทุกข์เช่นนี้เรียกว่าทุกข์ใจ ๆ นั้นเป็นทุกข์ที่แก้ไขได้ ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ดับ คือทุกข์ใจเท่านั้น ไม่ได้สอนให้ดับทุกข์กาย และการดับทุกข์ใจให้ได้นั้น จะมีวิธีเดียวคือต้องใช้โลกุตรปัญญา หรือปัญญาสัมมาทิฏฐิเท่านั้น จะใช้โลกียปัญญาดับทุกข์ใจหาได้ไม่

    ทุกข์อุปาทานนี้ในบทสวดมนต์สังเวคปริกิตตนปาฐะเรียกว่า สังขิเตนะ ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา ว่าโดยย่อการเข้าไปยึดขันธ์ห้าว่าเป็นเราเป็นทุกข์ ปัญจุปาทานขันธาทุกขา มาจากคำ ๓ คำ คือ ปัญจขันธ์ - อุปาทาน - ทุกขา รวมความแปลว่าการเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ห้าหรือขันธ์หนึ่งขันธ์ใด ว่าเป็นเรา เป็นของเราเป็นทุกข์ อุปาทานขันธ์ จึงเป็นทุกข์รวบยอดของพระพุทธศาสนา เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ไม่มีในลัทธิศาสนาอื่นๆ แต่มีชาวพุทธส่วนหนึ่งนำเอาตัวทุกข์นอกศาสนามาสอน เช่นอธิบายคำว่าชาติผิดๆ ว่า ชาติ คือการเกิดชีวิตจากท้องมารดา คือการเกิดมาของขันธ์ห้านี่แหละเป็นตัวทุกข์ การสอนเช่นนี้จึงนำไปสู่การดับทุกข์ที่ผิด คือการฆ่าตัวตายทำลายชีวิต เพื่อดับชีวิต (ขันธ์ห้า) จะได้หมดทุกข์ อย่างนี้เป็น สีลัพพตปรามาส (สังโยชน์ข้อ ๓) มีแต่ปุถุชนเท่านั้นที่เห็นผิดและปฏิบัติผิดเช่นนี้ ส่วนพระโสดาบันนั้นละสังโยชน์ ๓ ได้แล้วจึงไม่ฆ่าตัวตายอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์มากสักเพียงใดก็ไม่ฆ่าตัวตาย เพราะเห็นถูกแล้วว่า ทุกข์ใจต้องดับที่ใจ ไม่ใช่ดับที่กาย รุ้ว่าทุกข์ใจคือ อุปาทานขันธ์ จึงดับทุกข์ใจด้วยการดับอุปาทานขันธ์ ทุกครั้งไปเมื่อปฏิบัติถูกเช่นนี้ บ่อยๆ ก็จะทำให้ถึงนิพพานเร็วขึ้น และไม่ต้องเสียชีวิตไปในวัยที่ไม่สมควร ฉะนั้นการไม่ฆ่าตัวตายเพื่อดับทุกข์จึงเป็นอานิสงส์ของการได้ดวงตาเห็นธรรมประการหนึ่งด้วย

ดวงตาเห็นธรรม 8


ดวงตาเห็นธรรม 8
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
        จะดับทุกข์ทั้งปวงได้ก็จะต้องเจริญปัญญาและต้องศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นระบบ อย่างมีเหตุผล เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (Truth investigation) และจะต้องตั้งอยู่ในหลัก สวากขาตธรรม ซึ่งเป็นหลักตัดสินพระธรรมของพระพุทธเจ้า ๕ ประการ และเป็นลักษณะของโลกุตรธรรม ที่พุทธบริษัททุกคนจะต้องรู้และนำมาใช้ใน ชีวิตประจำวันคือ

๑. สันทิฏฐิโก เห็นได้ด้วยปัญญาตนเอง ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น
๒. อกาลิโก ทำเมื่อไรได้รับผลทันทีไม่ต้องรอเวลา
๓. เอหิปัสสิโก เรียกให้มาดูความจริงกันได้ พิสูจน์ได้
๔. โอปนยิโก ทำให้มีขึ้นในใจตนเองได้
๕. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน รู้แทนกันไม่ได้

        เมื่อตนเองรู้เองเห็นเองแล้ว (สันทิฏฐิโก) ก็ไม่ต้องเชื่อใครพูด ไม่ต้องเชื่อเขาว่าอีกต่อไป และทุกคนจะต้องทำเอง ผู้รับประทานอาหารเองย่อมรู้รสอาหารเอง ผู้อื่นจะทานอาหารแต่ให้ผู้อื่นรู้รสแทนไม่ได้ ผู้ใดต้องการจะรู้รสอาหารผู้นั้นจะต้องทานเอง ให้กันก็ไม่ได้ จะใช้เงินซื้อเอาไม่ได้ จะให้ผู้อื่นทำแทนเราก็ไม่ได้ ดังมีพุทธภาษิตว่า “ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์นั้นเป็นของจำเพาะตน ผู้อื่นทำให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ไม่ได้” และ “ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้นส่วนความเพียรนั้นเธอต้องทำเอง”

        การปฏิบัติใน โลกุตรธรรม จะได้รับผลในชีวิตปัจจุบัน นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี คำสอนใดๆ ที่สอนให้รับผลหลังตายนั้นไม่มีไม่ใช่พระพุทธศาสนาเพราะ ไม่เป็น อกาลิโก (ไม่ขึ้นต่อกาลเวลา) ต้องขึ้นอยู่กกับกาลเวลา ไม่เป็น สันทิฏฐิโก เพราะพิสูจน์ไม่ได้ ไม่เป็น โอปนยิโก น้อมนำเข้ามาในตัวไม่ได้ และไม่เป็นประโยชน์อะไรกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนานั้นมีพุทธประสงค์เพื่อช่วยให้มนุษย์โลกได้พ้นทุกข์ทางใจใช่หรือไม่? เมื่อทุกข์ใจมีอยู่ที่คนเป็นๆ ขณะที่มีชีวิตอยู่ เพราะยังมีกิเลสยังมีทุกข์ ก็ดับกิเลสดับทุกข์เสีย ตอนที่ยังเป็นๆ และจะได้มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีความทุกข์เลย มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นตัวอย่าง
        ผู้ที่ได้ ดวงตาเห็นธรรม ก็จะมีปัญญาหยั่งรู้ได้เฉพาะตนเป็น ปัจจัตตัง จะรู้ผู้อื่นไม่ได้ ผู้อื่นจะรู้แทนไม่ได้ การเป็นพระโสดาบันเป็นผู้เข้ากระแสนิพพานเป็น โลกุตตรภูมิ ขั้นต้น ต่อไปก็จะพัฒนาปัญญาสัมมาทิฏฐิให้สูงขึ้นไปเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้นไปได้เอง การได้ดวงดาเห็นธรรมจึงเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง มีจิตมั่นคงในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อย่างยิ่ง ตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ ดวงตาเห็นธรรม นั้น ยังเป็นพุทธแต่ปาก จึงยังไม่มั่นคงในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เมื่อเกิดความทุกข์ก็จะพึ่งสิ่งภายนอกต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง พึ่งแล้วก็ไม่พ้นไปจากทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้นานเข้าก็จะเสื่อมศรัทธาต่อพุทธศาสนาเพราะเห็นว่าช่วยให้ดับทุกข์ไม่ได้ อาจหันไป
        พึ่งเจ้าพ่อเจ้าแม่ ผีสางนางไม้ เทวดา หมอดู ร่างทรง ฯ เมื่อพึ่งไม่ได้อีก ก็หันไปหายาเสพติดให้โทษต่างๆ เป็นการเพิ่มทุกข์และซ้ำเติมตัวเอง เมื่อเป็นทุกข์มากๆ อาจจะต้องฆ่าตัวตายหรือไม่ก็เปลี่ยนไปนับถือลัทธิหรือศาสนาอื่นได้โดยง่าย ปัจจุบันนี้ มีลัทธิต่างๆ จากต่างประเทศ เช่นไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา แม้แต่ลัทธิแม่มดหมอผีในยุโรปสมัยกลางชื่อว่าลัทธิ “วิกก้า” ซึ่งสมัยนั้นมีโทษหนักถูกจับไปประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นหลายพันคน ก็มีผู้นำมาเผยแพร่กันในประเทศไทยอย่างเปิดเผยแล้ว และกำลังเป็นที่นิยมกันในหมู่วัยรุ่นคนหนุ่มคนสาว จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงลูกหลานมากขึ้นอีก และจะกระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยด้วย


ดวงตาเห็นธรรม 7


ดวงตาเห็นธรรม 7
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
   
         การแปลภาษาบาลีให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามีการแปลผิดพลาดหรือแปลไม่หมดก็จะไม่เข้าใจ และอาจจะสับสนในการปฏิบัติได้ ฉะนั้นจึงต้องแปลให้ถูกและแปลให้หมด ที่สำคัญเราต้องตรวจสอบด้วยการดูสภาวะธรรมต่างๆ ด้วยตาปัญญาของเราเองด้วย ไม่ใช่เอาแต่เชื่อตำราอย่างเดียว คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตสามารถพิสูจน์ได้ตลอดเวลา

         การแปลคำว่าวิญญาณก็เช่นเดียวกัน ต้องแปลให้หมดจะเข้าใจง่าย เช่นเราสวดมนต์แปลว่า วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณัง อนัตตา ที่แปลกันอยู่ทั่วไปว่า วิญญาณ ไม่เที่ยง วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน ใช่หรือไม่? เป็นการแปลไม่หมด เพราะคำว่าวิญญาณยังไม่ได้แปล คำว่าวิญญาณเป็นภาษาบาลี แปลว่า รู้ หรือ การรับรู้ (consciousness) การแปลที่ถูกต้องจะต้องแปลว่า การรับรู้ไม่เที่ยง การรับรู้ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้ทำให้เข้าใจง่าย และเมื่อดูสภาวะธรรมจริงๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้น การรับรู้ เช่นการเห็นรูป การได้ยินเสียง ฯ นั้นไม่เที่ยง เป็นสังขตธรรม เกิดดับอยู่เสมอ เป็นไปตามเหตุปัจจัย บังคับบัญชามันไม่ได้ มันจึงไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) แต่ปัจจุบันมีการเพี้ยนไปว่า วิญญาณเป็นตัวตน (Soul) กันทั่วประเทศใช่หรือไม่?


วิญญาณพุทธนั้นหรือคือธาตุรู้

ไม่มีอยู่ในคนตายคลายสงสัย
เมื่อตายแล้ววิญญาณลับดับตามไป
ตามร่างกายสลายได้อนิจจัง
ถ้ายึดมั่นมันแต่น้อยไม่ค่อยทุกข์
ไม่ยึดเลยย่อมเป็นสุขเกษมศรี
ถอนอุปาทานขันธ์นั้นเป็นยอดดี
เป็นจุดหมายชาวพุทธชี้ชาตินี้เอย.
(พลตรีเดช ตุลวรรธนะ)

ดวงตาเห็นธรรม 6


ดวงตาเห็นธรรม 6
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
    อย่าหลงอิทธิฤทธิ์ ที่เป็นจิตนาการของพระแขก
  ในตำราวิสุทธิมรรคว่าไว้ดี ถ้าผู้ใดได้ทำสมาธิจิตสงบมากๆ แล้วจะมีอภิญญา ๖ คือ
๑.อิทธิวิธิ
๒.ทิพพโสต
๓.เจโตปริยญาณ
๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
๕.ทิพพจักขุ
๖.อาสวักขยญาณ


   ข้อ ๑ - ๕ เป็นของปุถุชนคนทั่วไปทำได้ ข้อ ๖ เป็นของพระอรหันต์ แล้วก็อธิบายว่า

๑.อิทธิวิธิ นั้นสามารถแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เช่น คนเดียวทำให้เป็นหลายคน หายตัวกำบังตนได้ เหาะไปในอากาศได้เหมือนนก เดินไปบนผิวน้ำได้เหมือนกันเดินบนบก เดินผ่านกำแพงได้ สามารถลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ได้ด้วยมือเปล่าฯลฯ

๒.ทิพพโสต มีหูทิพย์ สามารถฟังเสียงได้ทุกชนิด

๓.เจโตปริยญาณ รู้จิตใจคนอื่นได้ว่าใครคิดอะไรดีหรือร้ายอย่างไร? รู้หมด

๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้

๕.ทิพพจักษุ มีตาทิพย์สามารถเห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นสิ่งปิดบังได้

๖.อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป 



วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม 5


ดวงตาเห็นธรรม 5
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ

     
         ความทุกข์เกิดที่ไหน? ก็ดับที่นั่น
        ความทุกข์เกิดที่ผัสสะด้วยอวิชชา เมื่อจิตปุถุชนยสังมีอวิชชา ยังไม่มีความรู้เรื่องผัสสะอย่างถูกต้อง เมื่อกระทบอารมณ์ที่ผัสสะด้วยอวิชชา จึงเกิดความทุกข์ใจขึ้น คือจิตย่อมเกิดการปรุงแต่งไปในทางลบบ้าง ทางบวกบ้าง ทางกลางๆ บ้าง ทั้งนี้เพราะอารมณ์ที่มากระทบจิตนั้นมี ๓ ลักษณะด้วยกันคือ
       ๑. อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดี น่าใคร่น่าพอใจ (ฝ่ายโลภะ)
       ๒. อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ (ฝ่ายโทสะ)
       ๓. มัชฌัตตารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกลางๆ (ฝ่ายโมหะ)
       ลักษณะของการปรุงแต่งจิตของปุถุชนมีอวิชชา มี ๓ ลักษณะคือ
       ๑. ปุญญาภิสังขาร การปรุงเป็นฝ่ายบุญกุศล (ฝ่ายดี)
       ๒. อปุญญาภิสังขาร การปรุงเป็นฝ่ายบาปอกุศล (ฝ่ายชั่ว)
       ๓. อเนญชาภิสังขาร การปรุงเป็นฝ่ายระหว่างกลาง (ไม่ดีไม่ชั่ว)
ส่วนจิตของพระอรหันต์นั้นหมดอวิชชาแล้ว จึงไม่ไม่มีการปรุงเป็นพอใจไม่พอใจ เป็นฝ่ายชั่ว เป็นฝ่ายดี หรือเฉยๆ ด้วยโมหะ แต่จิตของพระอรหันต์จะรักษาความปรกติเอาไว้ได้ มีความวางเฉยด้วยปัญญา (อุเบกขาญาณสัมปยุต)
ความจริงคำว่าดับทุกข์นี้มิได้หมายความว่าต้องรอให้ทุกข์เกิดก่อนแล้วค่อยดับทุกข์นั้นให้หมดไปทีหลัง เช่นเดียวกับการปล่อยให้เกิดไฟไหม้ก่อนแล้วจึงเอาน้ำไปดับไฟ ซึ่งถ้าดับไฟได้ ก็ไม่อาจเรียกร้องเอาสิ่งที่สูญเสียกลับคืนมาได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ การดับทุกข์หรือการทำที่สุดแห่งทุกข์ก็เช่นเดียวกัน จะต้องป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นในขณะผัสสะ ทุกครั้งไป ไม่ใช่ปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นความทุกข์เกิดขึ้นแล้วจึงตามดับ


ดวงตาเห็นธรรม 4


ดวงตาเห็นธรรม 4
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ

        ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม เรียกเป็นบุคคลว่า พระโสดาบัน คำว่า โสดา แปลว่ากระแส บัน แปลว่าคน หรือบุคคล แปลเต็มว่า บุคคลผู้เข้ากระแส กระแสอะไร? ประพฤติพรหมจรรย์คือการทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส ก็ต้องเป็นกระแสนิพพาน ซึ่งเป็นก้าวแรกของพระอริยบุคคล ๔ จำพวก ในพุทธศาสนาคือ ๑. พระโสดาบัน ๒. พระสกทาคามี ๓. พระอนาคามี ๔. พระอรหันต์ ซึ่งเป็นโลกุตรภูมิ ซึ่งมีอยู่ในบทสวดมนต์พระสังฆคุณ ว่า “จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุลิสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวกสังโฆ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละคือสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า” พระอริยบุคคลทั้ง ๔ จำพวก เป็นผู้อยู่ในโลกกุตรภูมิ เป็นผู้สามารถข้ามโคตรภู (Lineage of change) ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างโลกียภูมิ และโลกุตรภูมิได้แล้ว เข้ากระแสแล้วไม่ต้องกลับมาเป็นปุถุชนอีกต่อไป

อะไรเป็นเครื่องจำแนกพระอริยบุคคล?
ตอบ สังโยชน์๑๐ แปลว่าเครื่องร้อยรัดให้กิเลสติดอยู่กับจิตมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. สักกายทิฏฐิ เห็นผิดในเรื่องการเกิดที่เป็นทุกข์
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ
๓. สีลัพพตปรามาส ปฏิบัติดับทุกข์ในทางผิด
๔. กามราคะ ความกำหนัดในกาม
๕. ปฏิฆะ ความขัดเคืองไม่พอใจ
๖. รูปราคะ ความกำหนัดยินดีในรูปธรรม
๗. อรูปราคะ ความกำหนัดยินดีในอรูธรรม
๘. มานะ ความสำคัญตนเปรียบเทียบผู้อื่น
๙. อุทธัจจะ ความหวั่นไหวของจิตเมื่อกระทบอารมณ์
๑๐. อวิชชา ความไม่หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง


ดวงตาเห็นธรรม 3


ดวงตาเห็นธรรม 3
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ


        การเรียนรู้ปรมัตถสัจจะ (Absolute truth) อันเป็นสัจจะสากล (Universal truth) จะทำให้มนุษย์หมดความเห็นแก่ตัว ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอีกต่อไป จะเกิดความเมตตาอยากจะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ เท่าที่จะสามารถทำได้ การเบียดเบียนกัน ฆ่าตัวตาย ฆ่ากันตาย ทำสงครามกันก็หมดไป โลกก็จะเกิดสันติภาพอย่างถาวร แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ มีองค์กรทางศาสนามากมายไม่นำโลกุตตรธรรมมาสอนกัน จึงไม่สามารถจะช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์และไม่อาจจะช่วยให้โลกพ้นจากภัยคือสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกได้
      “ถ้าโลกุตรธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ ถ้าโลกุตรธรรมระบาดโลกธาตุจะสงบเย็น” (พุทธทาสภิกขุ)เมื่อครั้งที่พระพุทะเจ้าส่งพระอรหันต์สาวกรุ่นแรก ๖๐ องค์ ออกไปประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ตรัสว่า “จรถะ ภิกขะเว จาริกัง จารมาโน พาหุชะนะหิตายะ พาหุชนะสุขายะ โลกานุกัมปายะฯ ” มีใจความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอเป็นผู้ที่พ้นแล้วจากบ่วงอันเป็นของมนุษย์ และบ่วงอันเป็นของทิพย์ เธอทั้งหลายจงไป จาริกไป เพื่อประกาศพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ให้งดงามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด เพื่อประโยชน์แก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เธอทั้งหลายอย่าไปทางเดียวกัน ๒ องค์ ให้แยกกันไปองค์ละทาง

        ที่ว่าให้แยกกันไปคนละทางนั้น ก็เพื่อให้ได้พื้นที่กว้างไกลมากที่สุด ถ้าไปทางเดียวกัน ๒ องค์แล้วก็จะเปลืองคน เพราะไปพูดเรื่องเดียวกัน คือประกาศพรหมจรรย์ แปลว่า การทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นทุกข์ พระองค์ไม่ได้ให้ไปสอนโลกียธรรมอันมีพื้นฐานอยู่บนสมมุติสัจจะและยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง แต่พระองค์ให้ไปสอนวิธีทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งโลกียธรรมนั้นจะช่วยไม่ได้เลย มีธรรมะประเภทเดียวเท่านั้นที่จะทำจิตมนุษย์ให้บริสุทธิ์ได้นั้นคือ โลกุตตรธรรม (Supra mundane states)

        พระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือนลูกไก่ตัวพี่เพื่อนที่ออกมาจากไข่ แม่ไก่ฟักไข่กี่ฟองก็ตาม ลูกไก่ไม่ได้ออกมาจากไข่พร้อมกัน แต่จะมีตัวหนึ่งออกมาจากไข่ก่อนตัวอื่นเรียกว่า ลูกไก่ตัวพี่เพื่อน เปลือกไข่เปรียบเหมือน อวิชชา ปากลูกไก่ที่แข็งแรงและแหลมคม เปรียบเหมือนวิชชา (ปัญญา) เจาะเปลือกไข่ออกมาได้ก่อน เป็นตัวแรก นี่เรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้ได้โดยพระองค์เอง แล้วพระองค์ทรงมีความกรุณาอันยิ่งใหญ่ ช่วยบอกวิธีที่จะเจาะเปลือกไข่ออกมา เพื่อช่วยให้ลูกไก่ตัวอื่นๆ เจาะเปลือกไข่ออกมาเป็นอิสระเหมือนพระองค์บ้าง ลูกไก่ตัวอื่นๆ จึงเป็นเพียงรู้ตามไม่ได้ตรัสรู้ด้วยตนเอง จึงเรียกว่า พระอนุพุทธะ หรือพระอรหันตสาวก


ดวงตาเห็นธรรม 2


ดวงตาเห็นธรรม 2
                                                                         พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ


        ในมงคลสูตร อันเป็นธรรมมงคล ๓๘ ประการของพระพุทธเจ้า (วัตถุมงคล สัตว์มงคล ต้นไม้มงคล น้ำมงคล ฯลฯ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา)
        ธรรมมงคล ๓๘ ประการเป็นมงคลแห่งชีวิต (ไม่ใช่วัตถุมงคล)
        มงคลข้อที่ ๑ – ๓๐ เป็นโลกียธรรม คือ.
ไม่คบคนพาล, คบแต่บัณฑิต, การบูชาบุคคลที่ควรบูชา, การอยู่ในประเทศอันสมควร, การทำบุญไว้ในกาลก่อน, การตั้งตนไว้ชอบ, การได้ยินได้ฟังมาก, ความฉลาดในหัตถกรรมและศิลปะ, ความเป็นผู้มีวินัย, การกล่าววาจาอันดีงาม, การบำรุงมารดาบิดา, การสงเคราะห์บุตร, การสงเคราะห์ภริยา, การงานไม่คั่งค้าง, การบริจาคทาน, การประพฤติธรรม, การสงเคราะห์ญาติ, การทำการงานอันปราศจากโทษ, การงดเว้นจากบาปอกุศล, การสำรวมในการดื่มน้ำเมาหรือยาเสพติดให้โทษ, ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย, การเคารพต่อผู้ที่สมควร, ความอ่อนน้อมถ่อมตน, ความสันโดษ, ความกตัญญู, การฟังธรรมตามกาล, ความอดทน, ความเป็นผู้ว่าง่าย, การเห็นสมณะ, การสนทนาธรรมตามกาล. (การดำเนินชีวิตด้วยมงคลชีวิตเป็นชีวิตที่ดีมีคุณค่า)
        มงคลข้อที่ ๓๑– ๓๘ เป็นระดับโลกุตรธรรม
ข้อที่ ๓๑ อินทรีย์สังวร(ความเพียรละกิเลส) คือการควบคุมตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ ด้วยสติปัญญาให้กายสุจริต ๓, วจีสุจริต ๔, มโนสุจริต ๓ รวมเรียกว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นศีลที่สมบูรณ์แบบหรือเป็นหลักมนุษยธรรมของชาวพุทธ มีครบทั้งศีลกาย ศีลวาจา และศีลใจ
ข้อที่ ๓๒ การประพฤติพรหมจรรย์ (ทำจิตให้บริษุทธิ์ตามนัยมรรคมีองค์ ๘ ) เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอริยบุคคล ๔ จำพวก
ข้อที่ ๓๓ การเห็นแจ้งปฏิจจสมุปบาท ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงถึงซึ่ง “วิชชา”
ข้อที่ ๓๔ การทำพระนิพพานให้แจ้ง (จิตบริสุทธิ์สิ้นเชิง) ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานใดๆ ถึงซึ่ง “วิมุตติ”
ข้อที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ข้อที่ ๓๖ จิตไม่โศก ข้อที่ ๓๗ จิตสิ้นธุลี ข้อที่ ๓๘ จิตเกษม มงคลข้อที่ ๓๕ - ๓๘ รวมเรียกว่าจิตถึงความเป็นเอกสี่ขั้น เป็นความหมายของ นิพพาน ในชีวิตประจำวัน มีหลักฐานในอังคุตตรนิกายติกนิบาต และในขุททกนิกาย
        มงคล คือ เหตุที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ ในพระพุทธศาสนามีแต่ธรรมมงคล ๓๘ ประการเท่านั้น มงคลอื่นนอกจากนี้เช่น วัตถุมงคล ต้นไม้มงคล สัตว์มงคล น้ำมงคล สายมงคล ไม่มีในพระพุทธศาสนา จิตผ่องแผ้ว จิตขาวรอบ จิตบริสุทธิ์ พรหมจรรย์ มีความหมายเดียวกัน คือสิ้นกิเลสสิ้นทุกข์ เป็นโลกุตรธรรม(ธรรมเหนือโลก) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จิตถึงความเป็นเอกสี่ขั้น คือถึงนิพพาน ที่ถูกต้องตรงตาามปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องในชาตินี้ไม่ใช่นิพพานในชาติหน้าภายหลังตาย ที่มีการสอนกันทั่วไปว่านิพพานคือตายแล้ววิญญาณสูญ ไม่ไปเกิดอีกต่อไป ซึ่งเป็นคำสอนของลัทธิ วิญญาณนิยม (Animism) โดยถือเอาวิญญาณเป็นอัตตา (Soul) ไม่ใช่พระพุทธสาสนา หรือปรัชญา พุทธนิยม (Buddhism) เรื่องวิญญาณเป็นอัตตาตัวตนเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นคำสอนของลัทธิศาสนาอื่นที่แทรกซึมเข้ามาในคัมภีร์พุทธศาสนาในภายหลังจนกลายเป็นพุทธศาสนาเนื้องอกในที่สุดก็แตกแยกออกเป็นมหายานนิกายต่างๆ คำสอนเพี้ยนๆ เช่นนี้ทำความสับสนให้แก่พุทธบริษัทเป็นอันมาก


ดวงตาเห็นธรรม 1


ดวงตาเห็นธรรม 1
                                                                                   พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ

        คำว่า “ดวงตาเห็นธรรม” มาจากคำว่า ธรรมจักษุ ในภาษาสันสกฤตและ ธัมมจักขุ ในภาษาบาลี และคำว่า the Eye of Wisdom ในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา เพียงแต่รู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นตาธรรม หรือตาปัญญา หรือตาที่เห็นความจริงด้วยปัญญา ไม่ใช่ตาเนื้อ ที่ใช้สำหรับเห็น รูปารมณ์ แต่เป็น ตาใจ หรือ ตาปัญญา ที่ใช้เห็นสภาวะธรรมที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศล ฝ่ายกลางๆ และฝ่าย วิมุตติ (Freedom of mind) คือฝ่ายที่จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงคือ นิพพาน
        คำจำกัดความของ “ดวงตาเห็นธรรม” คือ “การรู้ถูกหรือเห็นถูกต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงนิพพานได้ในชีวิตนั้น”
        ดวงตาเห็นธรรม มีหลักฐานมาจากไหน? หลักฐานในพระสูตรต่างๆ และในพุทธประวัติและประวัติของพระอรหันต์สาวกต่างๆ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรกของโลก ต่อมาพระสาวกองค์แรกที่ได้ดวงตาเห็นธรรมคือพระอัญญาโกณทัญญะ ซึ่งเป็นพระสงฆ์องค์แรกของโลก ได้ดวงตาเห็นธรรมเมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบลง โกณฑัญญะโยคี (นับบวชในลัทธิโยคะ) หัวหน้าของปัญจวัคคีย์ ก็ยิ้มน้อยๆ พระพุทธองค์ทรงทราบได้ด้วยพระญาณ ก็ทรงเปล่งอุทานว่า “โกณฑัญญะ วตะโภ โกณฑัญโญๆ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ “ ต่อมาโกณฑัญญะ จึงได้สามัญญนามว่า “พระอัญญาโกณฑัญญะ”
        ฆราวาส ผู้ครองเรือน อุบาสก อุบาสิกา มีโอกาสได้ ดวงตาเห็นธรรมหรือไม่? ตอบ มีมากมาย ยกตัวอย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ดวงตาเห็นธรรมตั้งแต่อายุได้เพียง ๗ ขวบ นายยสะกุลบุตร บุตรของเศรษฐี ผู้เป็นประธานสภา ในเมืองพาราณสี ได้ไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในอาการที่จิตไม่สงบเดินบ่นพึมพำว่า ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ พระพุทธองค์ กล่าวว่าที่นี่ ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ เธอจงนั่งลงทำจิตให้สงบเราจะแสดงธรรมให้ฟัง เมื่อนายยสะ ได้ฟังธรรมครั้งแรก บรรลุ โสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน ได้ฟังธรรมครั้งที่สอง บรรลุ เป็นพระอรหันต์ ต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงบวชให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทรงกล่าวแต่เพียงว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ไม่ต้องกล่าวคำที่เหมือนกับที่ทรงบวชคนอื่นว่า เธอจงทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้แจ้งเถิด เพราะพระยสะได้ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้สิ้นแล้ว ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว