ดวงตาเห็นธรรม

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การทำบุญ และความเชื่อหลังตาย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การทำบุญ และความเชื่อหลังตาย แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การทำบุญโดยไม่ต้องเชื่อเรื่องหลังตาย

    เรื่อง  การทำบุญโดยไม่ต้องเชื่อเรื่องหลังตาย  คัดจาก นสพ.สยามรัฐ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๐ บทความซอยสวนพลู โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  ดังนี้

   คอร์ลัมซอยสวนพลู
    ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ชายาในพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิจ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม นี้  และได้ฌาปนกิจศพไปแล้ว อย่างไม่มีพิธีรีตองแต่อย่างใด เมื่อวันที่ ๔ เดือนมิถุนายน
  ผมได้รู้จักคุ้นเคยกับคุณหญิงพันธุ์ทิพย์และเสด็จในกรมหมื่นนครสวรรค์ มาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กเล็ก ท่านทั้งสองได้มีเมตตากรุณาต่อผมมาโดยตลอด เมื่อผมเป็นเด็กท่านก็ไม่เคยกริ้วโกรธ ผมโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่เคยมีเรื่องผิดพ้องหมองใจกันแต่อย่างไรเลย
    คุณหญิงท่านกรุณาผมอย่างเพื่อน พูดจาอะไรกันได้ตรงไปตรงมา ไม่ต้องมีอะไรปิดบังกัน ผมทำอะไรที่ท่านไม่ถูกใจ ท่านก็พูดต่อหน้าเชิงวิชาการ ไม่เคยโกรธหรือเอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยว
ผมจะพูดถึงคุณหญิงพันธุ์ทิพย์ เฉพาะแต่ในเรื่องความเชื่อของท่าน ซึ่งผมได้พูดกับท่านมาช้านานในเรื่องนี้ ผมขัดคอบ้างแย้งท่านบ้าง เอาหลักฐานต่างๆ มาล้างเหตุผลของท่านบ้าง แต่ท่านก็ไม่เคยละความเชื่ออันนั้นของท่านได้
   ท่านเชื่อว่า คนเราที่เกิดมานั้น ตายแล้วสูญ ไม่มีอะไรเหลืออีกต่อไป ไม่มีชาติใหม่ ภพใหม่ ชาติก็ดี ภพก็ดี มีขึ้นเมื่อร่างกายนี้เกิดเท่านั้น เมื่อร่างกายนี้ดับสลายไปแล้ว ก็ไม่มีชาติอื่นภพอื่นมาต่อ ไม่มีจิตหรือวิญญาณหรือเจตภูตอะไรเหลืออยู่อีกเลย
    คุณหญิงพันธุ์ทิพย์ นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับผมนับถือพระรัตนตรัย สวดนโมฯ ได้ กราบไหว้พระพุทธรูปและพระสงฆ์เช่นเดียวกับผม บำเพ็ญกุศลตามประเพณีไทยตามวาระและเทศกาล ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา หรือคนที่นับถือศาสนา และอยู่กับเสด็จในกรมฯ ซึ่งออกจะหนักในศาสนาพุทธมาได้ตลอดพระชนม์ชีพ โดยไม่มีอุปสรรคในทางนี้
     คุณหญิงพันธุ์ทิพย์ เป็นคนที่ทำบุญไว้มากมาย ทั้งในพระศาสนาและทางด้านสาธารณกุศล ความจริงข้อนี้เห็นจะไม่มีใครปฏิเสธได้  แต่ท่านก็ยังเชื่อว่า ตายแล้วสูญ
       ผมเคยถามท่านว่า เมื่อท่านเชื่ออย่างนี้แล้ว ท่านทำบุญทำไม?
ท่านชี้หน้าผม แล้วตอบว่า “ฉันไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวอย่างคุณชายนี่ จะได้ทำบุญหวังผลชาติหน้า ฉันเห็นว่าการทำบุญเป็นความดี ชีวิตคนนั้นไม่นานนัก ฉันก็อยากทำความดีให้มากที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ ระหว่างที่ฉันมีชีวิตอยู่ ฉันตายแล้วก็สูญ ไม่ได้รับกุศลที่ทำไว้ ซึ่งฉันทำบุญ ก็ไม่ได้หวังอะไรอย่างนั้นเลย แต่ผลดีจะเกิดขึ้นแก่หลักธรรมหรือบุคคล ซึ่งได้รับผลจากการทำบุญของฉัน”    
      ผมก็จำนนท่าน ได้แต่บ่นตุบๆ ตับๆ ให้ท่านได้ยินว่าคุณหญิงเป็นคนนอกศาสนา แต่ก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ท่านใม่ใช่นอกศาสนา
      แต่ผมก็ถามท่านว่า “คุณหญิงทำบุญกรวดน้ำหรือเปล่า” “กรวด”

      “ก็เมื่อไม่มีชาติหน้าภพหน้าแล้วจะกรวดน้ำอุทิศให้แก่ใคร?” “กรวดให้คนเป็นๆ และสัตว์โลกทั้งหลายที่เสียเปรียบถูกเล่นรังแก มีความทุกข์ มีความเดือนร้อน ป่วยเจ็บทรมาน ต้องดิ้นรนเพราะกลัวภัยอันตรายต่างๆ”
            พุทธศาสนาสอนไว้ว่า คนที่เชื่อว่าตายสูญเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่คนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ
            แล้วจะเอายังไง พูดกันตามจริง ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
            แต่ผมเชื่อของผมเป็นส่วนตัวอย่างที่พระท่านสอนว่า เมื่อยังมีตัณหาอุปาทาน แล้วก็ต้องมีชาติมีภพ คือต้องเกิดอีก ต้องเป็นอีก
            แล้วยังไง เมื่อมีชาติมีภพ ก็จะต้องมีความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ มีการร้องไห้คร่ำครวญ และมีความแห้งใจ ถึงจะทำบุญไว้เท่าไร ลงได้เกิดแล้ว ก็ต้องประสบทุกข์เหล่านี้ทั้งนั้น จะมากหรือน้อยก็สุดแล้วแต่ว่าสิ่งที่เกิดในชาติหน้าภพหน้านั้น จะเป็นอะไร? หรืออยู่ในฐานะอย่างไร?
            ตอนตายแล้วเกิดนั้นเกิดตรงไหนเมื่อไร?
            ก็ขอตอบว่า เกิดเดี๋ยวนั้น พอตายก็เกิดใหม่เหมือนกับจิตที่ดับแล้วเกิดทันที เรียกว่า ปฏิสนธิจิต เมื่อเกิดในภพใหม่แล้วก็จะไม่รู้ว่า ตัวเองมาจากไหน? ชาติเก่าภพเก่านั้นหมดสนิท จะไม่มีอาลัยหรือกังวล เกี่ยวกับภพที่ล่วงไปแล้วเลย เพราะภพใหม่ก็เป็นเรื่องของภพใหม่ ที่จะต้องเผชิญทุกข์แบบเก่าๆ ต่อไป ไม่อยู่ในสภาพที่จะไปนึกถึงภพก่อน หรือกับมาเข้าฝันเข้าทรงใครได้ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือศพ ที่คุณหญิงพันธุ์ทิพย์ท่านสั่งไว้ว่า ไม่ใช่สิ่งควรบูชาให้รีบเผาๆ เสียให้หมดไป เมื่อขี้เถ้ามีประโยชน์ต่อต้นไม้ ก็ให้ไปโรยใส่ต้นไม้
อันหลังนี้  ก็เป็นอุปาทานนะครับ คือยึดว่าต้องมีขี้เถ้าและขี้เถ้านั้นเป็นปุ๋ยต้นไม้
(จบบทความของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)

            ต่อด้วยความเห็นของ อ.ไสว แก้วสม
            ข้าพเจ้าเห็นตรงข้ามกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คือเห็นว่าคำสั่งของคุณหญิงพันธุ์ทิพย์ เป็นคำสั่งสอนที่ไม่มีอุปาทาน ท่านต้องการให้ทำประโยชน์ถึงที่สุด เช่น สั่งให้คลุมศพด้วยผ้าขาวธรรมดา ราคาถูกๆ (เพราะต้องเอาไปเผา). ไม่ต้องรดน้ำศพ (ไม่รู้เย็นรู้ร้อนแล้ว). บรรจุโลงธรรมดาราคาถูก (ต้องเผา). ศพไม่ใช่สิ่งเคารพบูชาให้รีบเผาเสีย (เป็นหนังหุ้มสิ่งปฏิกูลและอาจมีเชื้อโรค) ให้เคารพกรรมดี, ถ้าขี้เถ้าเป็นปุ๋ยก็ให้ไปใส่ต้นไม้ เหล่านี้คือคำสั่งของคนที่ไม่มีอุปาทาน เพราะถ้ามีอุปาทานแล้วก็ต้องสั่งให้จัดการทำพิธีศพของตนอย่างใหญ่โต (จะหมดเงินเท่าใดก็ช่าง) ฉันตายแล้วห้ามควักลูกตาของฉันไปให้คนอื่นประเดี๋ยวเกิดชาติหน้าตาโบ๋ไม่มีดวงตา  (จบความเห็นของ อ.ไสว แก้วสม)

            พระเมธา ขอแสดงความเห็นด้วยคน  ท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า
            พุทธศาสนาสอนไว้ว่า คนที่เชื่อว่าตายสูญเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่คนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ    แล้วจะเอายังไง พูดกันตามจริง ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
อาตมารู้  ตายแล้วสูญเป็นมิจฉาทิฏฐิ  เรียกว่า อุทเฉททิฏฐิ (Annihilationism)  ตายแล้วเกิดอีก เป็นมิจฉาทิฏฐิเรียกว่า สัสสตทิฏฐิ (Eternalism)  นั้นถูกต้องแล้ว  ทั้งนี้เพราะเห็นผิดว่าวิญญาณเป็นอัตตาทั้งคู่   ที่ท่านคึกฤทธิ์ว่า  โดยส่วนตัวผมๆ เชื่อว่าถ้ายังมีกิเลสตัณหา  ก็จะต้องเกิดอีก  นั่นแหละคือ สัสสตทิฏฐิ  ส่วนใหญ่ในเวลานี้ก็สอนกันแบบสัสสตทิฏฐิกันทั่วไป   แล้วรังเกียจการสอนว่าตายแล้วไม่เกิดอีก  ซึ่งก็ผิดไปอีกทางหนึ่งเช่นเดียวกัน    ท่านคึกฤทธิ์บอกต่อไปว่า  เกิดเมื่อไร? เกิดทันทีที่ตาย  นี่ท่านว่าตามคำสอนของอภิธรรม  เมื่อพ่อแม่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์กันเกิดปฏิสนธิไม่ได้  แล้วจะเกิดทันทีได้อย่างไร?  ทั้งเรื่องสัมภเวสี  วิญญาณตัวตนเดินทางแสวงหาภพก็ไม่มีจริง  เป็นเพียงจินตนาการของมนุษย์เท่านั้น  ในคนเป็นๆ ที่มีชีวิต มีวิญญาณคือธาตุรู้ (Conscious element) เมื่อสิ้นชีวิต  สิ่งที่มีชีวิตก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต  ธาตุรู้ ก็ดับลง  และซากศพก็จะค่อยเน่าสลายในการฝังหรือเผาไฟ  มหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม (ของแข็งของเหลวความร้อนและแก๊สก็แตกสลายออกไป  เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต  และอาจจะเป็นส่วนประกอบของรูปที่มีชีวิตในอนาคตข้างหน้าต่อไปอีก  ฝ่ายจิตหรือนามธรรมก็เหมือนไฟหมดเชื้อ  ไฟนั้นก็ดับ  ถ้าหากมีการจุดไฟขึ้นมาใหม่   ก็เป็นไฟใหม่ที่เกิดจากเหตุปัจจัยใหม่ ไม่ใช่ไฟเก่ามาเกิดใหม่  กายและใจล้วนเป็นสังขตธรรมทั้งคู่  เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน  แม้ในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่  มีการเกิดดับอยู่เสมอ  และจะดับสนิทเมื่อสิ้นชีวิต  เปรียบเหมือนไฟเมื่อสิ้นเชื้อแล้วก็ดับ  ถ้าใครพูดว่าไฟมันไปไหน ไปเกิดหรือไม่เกิด  ก็เป็นเพียงจินตนาการของคนที่เต็มไปด้วยอวิชชานั่นเอง  ในบทสวดมนต์มีว่า  “มรณะปริโยสานัง เม ชีวิตัง” ชีวิตมีความตายเป็นที่สุดรอบ  (ไม่มีชีวิตภาคสอง)
                        “เทียนที่จุดหมดไส้เมื่อใดดับ         เมื่อเทียบกับชีวิตไม่ผิดผัน
            ชีวิตน้อยย่อยยับกับคืนวัน สิ้นเชื้อพลันก็ดับเหมือนกับเทียน”
                        “วิญญาณพุทธนั้นหรือคือธาตุรู้     ไมมีอยู่ในคนตายคลายสงสัย
            เมื่อตายแล้ววิญญาณลับดับตามไป           ตามร่างกายสลายได้อนิจจัง
                        สิ่งไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์อนัตตา        ใช้ปัญญาเห็นได้จริงสิ่งที่หวัง
            ย่อมเปลี่ยนแปลงปรวนแปรได้ทุกครั้ง ๆ      ควรหยุดยั้งตรองตรึกนึกให้ดี
                        ถ้ายึดมั่นมันแต่น้อยไม่ค่อยทุกข์     ไม่ยึดเลยย่อมเป็นสุขเกษมสันต์
            ถอนอุปาทานขันธ์นั้นยอดดี                      เป็นจุดหมายชาวพุทธชี้ชาตินี้เอย”

     ความเห็นของคุณหญิงเกี่ยวกับความตายว่า  “ฉันไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวอย่างคุณชายนี่ จะได้ทำบุญหวังผลชาติหน้า ฉันเห็นว่าการทำบุญเป็นความดี ชีวิตคนนั้นไม่นานนัก ฉันก็อยากทำความดีให้มากที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ ระหว่างที่ฉันมีชีวิตอยู่ ฉันตายแล้วก็สูญ ไม่ได้รับกุศลที่ทำไว้ ซึ่งฉันทำบุญ ก็ไม่ได้หวังอะไรอย่างนั้นเลย แต่ผลดีจะเกิดขึ้นแก่หลักธรรมหรือบุคคล ซึ่งได้รับผลจากการทำบุญของฉัน”   ความเห็นของท่านเข้าหลักอนัตตา  ไม่มีวิญญาณอัตตา เป็นสัมมาทิฏฐิ

     การทำบุญของคุณหญิง  เป็นการทำบุญที่ถูกต้องในพุทธศาสนา  ท่านทำเพื่อให้ไม่ได้ทำเพื่อเอา  ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ  โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ แม้แต่คำว่าขอบใจ  จากตัวอย่างการทำบุญ ๓ แบบ คือ ๑.ทำบุญแบบอาบน้ำโคลน ๒.ทำบุญแบบอาบน้ำแป้งหอม ๓.ทำบุญสแบบอาบน้ำสะอาด  คุณหญิงท่านทำบุญแบบอาบน้ำสะอาด ได้บุญเต็ม ๑๐๐ %  แสดงให้เห็นว่าท่านมีภูมิรู้ภูมิปัญญาในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง  บุญของท่านกลายเป็นกุศล  กลายเป็นเครื่องชำระล้างจิตใจให้สะอาด ปราศจากความโลภ โกรธ หลง  ท่านทำบุญโดยไม่ติดบุญ  ไม่บ้าบุญบ้าสวรรค์  อย่างที่คนหลงผิดเขาสอนกันอยู่เป็นส่วนมาก  ท่านใช้บุญเหมือนใช้เรือแพข้ามฟาก  เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ไม่ต้องแบกเรือแพไปด้วย  การที่คุณหญิง ได้บอกลูกหลานว่า “ซากศพไม่ใช่สิ่งที่ควรบูชา และอาจจะมีเชื้อโรคด้วย  ให้ห่อด้วยผ้าขาว  แล้วเอาไปเสียโดยเร็ว  ถ้าเหลือขี้เถ้าที่เป็นประโยชน์อยู่บ้างก็ให้เอาไปใส่ต้นไม้ให้เป็นปุ๋ย  ฉันทำบุญแล้วก็ไม่ได้หวังไปรับผลบุญในชาติหน้าเลย  ตายแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ  แต่ทำไปก็เพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังเป็นทุกข์ให้พ้นจากทุกข์ คนทั้งหลายที่เสียเปรียบถูกเล่นรังแก มีความทุกข์ มีความเดือนร้อน ป่วยเจ็บทรมาน ต้องดิ้นรนเพราะกลัวภัยอันตรายต่างๆ   การกรวดน้ำท่านก็ทำไปตามประเพณี  แต่กรวดให้คนเป็นๆ ที่ตกทุกขฺได้ยาก  ไม่ได้กรวดให้คนที่ตายไปแล้ว  ผลบุญที่ฉันทำจะเกิดขึ้นแก่คนเป็นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่”
          
        แสดงให้เห็นว่า คุณหญิง ม.ร.ว.พันธ์ทิพย์ บริพัตร ท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยภูมิรู้ภูมิปัญญา  ทางพุทธศาสนา  สมบูรณ์ทั้งสัมมาทิฏฐิ  และสัมมาสังกัปปะ  มีความเห็นถูกต้อง มีความคิดถูกต้อง และมรรคองค์อื่นๆ ก็ย่อมถูกต้องไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลในพุทธศาสนาองค์หนึ่ง  เป็นมหาอุบาสิกาตัวอย่างของชาวพุทธไทยในโลกปัจจุบัน  ที่หาได้ยากยิ่ง  ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงบันทึกเรื่องราวของท่านไว้เป็นอนุสรณ์ของชาวพุทธไทยต่อไป
            “สิ่งนั้นๆ เป็นเหมือนของเกลื่อนกลาด  ที่เป็นบาปเก็บกวาดทิ้งใต้ถุน   ที่เป็นบุญมีไว้เพียงเจือจุน  ใช้เป็นคุณสะดวกดายคล้ายรถเรือ  เหมือนบ่าวไพร่เอาไว้ใช้ใช่ไว้แบก  กลัวตกแตกใจสั่นประหวั่นเหลือ  เรากินเกลือใช่จะต้องบูชาเกลือ  บุญเหมือนเรือเอาไว้ขี่ไปนิพพาน  มิใช่เพื่อประดับให้สวยหรู  เที่ยวอวดชูแบกไปทุกสถาน  ท่องเที่ยวไปในโลกโอฆกันดาร  ไม่อยากข้ามขึ้นนิพพานเสียดายเรือ”  (พุทธทาสภิกขุ)

            เมื่อพูดถึงพระอริยบุคคลทำให้อาตมาระลึกถึงพระอริยบุคคลอีกสองท่านคือ ๑.ท่านพุทธภิกขุ ๒.พล.ต.เดช ตุลวรรธนะ (เป็นความเชื่อส่วนตัว)
 ท่านพุทธทาสนั้นก่อนมรณภาพ  ท่านได้เขียนพินัยกรรมให้ลูกษศิษย์ปฏิบัติ  ไม่ขอไฟพระราชทาน  ไม่ต้องนิมนต์พระมาสวดอภิธรรม  ให้เผาศพแบบประเพณีโบราณ โดยเอาไม้มากองเข้าเอาศพวางบนกองฟืนแล้วจุดไฟเผา  แทบเรียกได้ว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดเลย  ประหยัดและเรียบง่าย  เมื่อเปรียบเทียบกับศพพระในจังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะเมรตั้งศพราคา ๑ ล้าน ๕ แสนบาท  ศพพระที่จังหวัดสมุทรสาคร  เฉพาะโลงศพฝังมุกราคา ๓ แสนบาท  เป็นต้น  อาตมาเห็นว่าความคิดของท่านพุทธทาสเป็นความคิดของพระอริยบุคคลองค์หนึ่ง

ส่วน พล.ต.เดช ตุลวรรธนะ  นั้นได้สั่งลูกหลานไว้เช่นกัน  แต่ท่านเป็นนายทหารชั้นนายพล จึงอนุโลมตามประเพณีนิยมบ้าง  แต่มีสิ่งที่แปลกก็คือ ให้แจกหนังสือธรรมะที่ท่านเขียนเอง  ไม่ต้องนิมนต์พระมาสวดอภิธรรม  และให้นิมนต์พระเมธา ชาตเมโธ มาแสดงธรรม ในงานศพที่บ้านซอยสุขุมวิท ๒๒ จำนวน ๗ ครั้ง  และเทศน์ที่วัดโสมนัสในวันเผา ๑ ครั้ง  และลูกหลานก็ปฏิบัติตามนั้น   อาตมาเห็นว่าความคิดของท่านเป็นความคิดของพระอริยบุคคลองค์หนึ่ง

พระเมธา ชาตเมโธ  โทร.๐๘-๑๔๗๖-๑๔๕๕   (๑ ต.ค.๒๕๕๓)