วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม 6


ดวงตาเห็นธรรม 6
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
    อย่าหลงอิทธิฤทธิ์ ที่เป็นจิตนาการของพระแขก
  ในตำราวิสุทธิมรรคว่าไว้ดี ถ้าผู้ใดได้ทำสมาธิจิตสงบมากๆ แล้วจะมีอภิญญา ๖ คือ
๑.อิทธิวิธิ
๒.ทิพพโสต
๓.เจโตปริยญาณ
๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
๕.ทิพพจักขุ
๖.อาสวักขยญาณ


   ข้อ ๑ - ๕ เป็นของปุถุชนคนทั่วไปทำได้ ข้อ ๖ เป็นของพระอรหันต์ แล้วก็อธิบายว่า

๑.อิทธิวิธิ นั้นสามารถแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เช่น คนเดียวทำให้เป็นหลายคน หายตัวกำบังตนได้ เหาะไปในอากาศได้เหมือนนก เดินไปบนผิวน้ำได้เหมือนกันเดินบนบก เดินผ่านกำแพงได้ สามารถลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ได้ด้วยมือเปล่าฯลฯ

๒.ทิพพโสต มีหูทิพย์ สามารถฟังเสียงได้ทุกชนิด

๓.เจโตปริยญาณ รู้จิตใจคนอื่นได้ว่าใครคิดอะไรดีหรือร้ายอย่างไร? รู้หมด

๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้

๕.ทิพพจักษุ มีตาทิพย์สามารถเห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นสิ่งปิดบังได้

๖.อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป 





   เรื่องเหล่านี้เด็กๆ ชอบ ผู้ใหญ่ก็ชอบ ผู้เขียนก็เคยชอบต่อมาเมื่อได้ใช้ปัญญาพิจารณาแล้วจึงรู้ว่าเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น แม้แต่พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งวิสุทธิ์มรรคเองก็ยังทำไม่ได้ มันเป็นเพียงจินตนาการอันเกิดจากความเพ้อฝัน (Fantasy) เท่านั้นเองถ้าใครเคยดูหนังอินเดียแล้วจะรู้ว่าพวกแขกมีจินตนาการเพ้อฝันได้มากขนาดไหน? ๕ ข้อนี้เป็นของปุถุชนคนมีกิเลสทั่วไป ข้อที่ ๖ อาสวักขยญาณ สามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปได้ (ด้วยสมาธิ) สิ่งเหล่านี้เป็นน้ำผึ้งล่อมดให้สนใจ แต่เมื่อศึกษาให้ละเอียดแล้วเป็นความหลอกลวงทั้งสิ้น สมาธิทำได้เพียงแต่กลบทุกข์ไว้ชั่วคราวเท่านั้น (สมาธิหินทับหญ้า) เป็นเรื่องการคัดลอกวิชชา๘ ของลัทธิโยคะมาใช้ ไม่เคยมีประวัติศาสตร์โลกเคยบันทึกเรื่องพิลึกเหล่านี้ไว้ที่ไหนและเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วก็ไม่สมเหตุสมผลปุถุชนคนธรรมดาได้ อภิญญา ๕ พระอรหันต์ได้อภิญญา ๖ พวกฤาษีในลัทธิโยคะได้ วิชชา ๘ พระพุทธเจ้าได้ วิชชา ๓ จึงกลายเป็นเรื่องตลกไป ปัญญาชนคนมีเหตุผลใครเล่าจะรับเรื่องเหล่านี้ได้ก็ยังมีคนโง่ไปหลงเชื่ออยู่ไม่น้อยเหมือนกันตราบใดที่คนไทยยังด้อยการศึกษารายได้เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์จะยังไม่ลดลง ผู้ปฏิบัติถ้าไม่รู้จักนิมิต แล้วจะกลายเป็นคนเสียจริตเป็นคนเหม่อลอยได้

  เมื่อผู้ปฏิบัติมีความเชื่อฝังใจเรื่องเหล่านี้อย่างแน่นแฟ้นแล้ว เมื่อจิตใกล้ภวังค์ เรียกว่าจิตกึ่งสำนึก หรือใต้สำนึก (Sub-consciousness) หรือ จิตฝัน (Dreaming mind) จิตจะมีสติอ่อนลงมากจะเกิดการปรุงแต่งขึ้นด้วยการผสมระหว่างเวทนาสัญญา สังขารและวิญญาณโดยปราศจากการควบคุมของสติทำให้เกิดมโนภาพเรียกว่า นิมิต (Sign ; Mental image) มโนภาพเหล่านี้มีทั้งภาพที่เคยเห็นเคยคิดเคยจำเคยจินตนาการไว้ใน สัญญา (Perception) และภาพที่จิตที่ไม่สมบูรณ์ในขณะนั้นปรุงแต่งขึ้นใหม่ เป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นเดียวกับในความฝันก็มี เช่น รูปคน รูปสัตว์ รูปต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ภาพผี ภาพเทวดา ภาพนรก ภาพสวรรค์ ดอกบัว พระพุทธรูป ภาพน่ากลัว ภาพน่ารักต่างๆ นานา ถ้าน่ากลัวก็จะไม่อยากดู บางทีถูกทำร้ายกลัวตายก็รีบตื่นขึ้นมา (โทสะปรุง) ถ้าน่ารักเช่นได้พบกับคนรักก็สนุกดีไม่อยากตื่นก็มี (โลภะปรุง) พวกเล่นหวยก็นั่งสมาธิดูเลขหวยแทงหวยกันหนักๆ
 
  ทั้งลูกศิษย์และอาจารย์ก็มี ถ้าใครทักท้วงจะโกรธทันที สมาธิอย่างนี้ยิ่งทำยิ่งมีกิเลสมากขึ้น ถ้าผู้ปฏิบัติไม่รู้จัก ไม่เข้าใจเรื่องของ นิมิต ก็เอานิมิตคือภาพหลอนนี้มาอวดกันว่า ฉันนั่นสมาธิเห็นนั่นเห็นนี่ ฉันนั่งสมาธิได้นานกว่าคนอื่น บางคนหลับไป ๒ ชั่วโมง ตื่นขึ้นมาดูนาฬิกา ดีใจว่าได้เข้าสมาธินานจริงๆ บางคนก็ว่าได้ถอดวิญญาณออกจากร่างไปเที่ยวเมืองสวรรค์เมืองนรก (เอาแบบมาจากเรื่องพระมาลัยนิทานที่พระลังกาแต่งเมื่อ พ.ศ.๑๖๐๐ จีนก็ลอกแบบลังกาไปเหมือนกันเวลาทำพิธีกงแต๊กจะมีพระตี้จังอยู่ด้วย ตำรากงแต๊กระบุว่าตี้จังคือพระมาลัยของลังกา) บางสำนักเป็นเอามากชวนกันทำสมาธิเอาภัตตาหารขึ้นไปถวายพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นนิพพานก็มี นี่คือความเพี้ยนของพุทธบริษัทไทยในปัจจุบัน ผู้ไม่มีสติปัญญาที่ดี ไม่ว่าจะเข้าสมาธิหรือไม่เข้าสมาธิก็มีโอกาสถูกกิเลสตัณหา(พญามาร) หลอกได้ทั้งนั้น


  การทำสมาธิวิปัสสนาต้องทำให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา

การฝึกจิตอย่าฝึกเพียงแค่ให้เกิดสติเพียงอย่างเดียว ต้องฝึกให้เกิดปัญญาด้วย จึงจะทำลายอวิชชาให้หมดไปได้ ถ้าจิตมีสติปัญญาเพียงพอกิเลสก็หลอกไม่ได้ นิมิตต่างๆ ก็ไม่มีความหมาย นิมิตจะเกิดขึ้นได้เมื่อสติปัญญาอ่อนกำลังลงเท่านั้น ถ้าเราเรียกสติและปัญญากลับมาเมื่อไร นิมิตเหล่านั้นก็จะหายไป มีพระพุทธภาษิต ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า “โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องทำให้เกิดนิมิต พระอรหันต์เป็นพระขีณาสพปราศจากโลภะ โทสะ โมหะแล้ว ย่อมไม่มีนิมิต” เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว ไม่ต้องพูดผิดๆ เกี่ยวกับนิมิตอีกต่อไป เพราะการอวดกันว่าได้เห็นนิมิตคือการอวดว่าได้เกิดกิเลสฟุ้งซ่านมากในขณะทำสมาธิ ขาดสติปัญญา ในสัมมาสมาธิไม่มีนิมิตและระวังอย่าให้นิมิต เป็นอุปสรรค์ในการเจริญปัญญาได้ต่อไป
    การทำสมาธิวิปัสสนานั้นทำเพื่อดับอุปาทาน ไม่ใช่ทำเพื่อให้เห็นนิมิตหรือทำเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ใดๆ อิทธิฤทธิ์ แปลว่าอำนาจทำให้สำเร็จ ในพระพุทธศาสนาคืออิทธิฤทธิ์ที่สามารถดับกิเลสได้ ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ที่ต้องเป็นทาสของกิเลส พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์คือสามารถกำจัดกิเลสให้หมดไปได้ และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติเพื่อดับกิเลสได้ด้วย ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์คือเหาะได้หายตัวได้อย่างที่เข้าใจผิดกัน ตามพุทธประวัติไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกเหาะไปไหน แม้จะมีการเขียนเรื่องเหล่านี้ลงไปบ้าง เช่นการเหาะข้ามแม่น้ำไปเมืองเวลาลี หรือการเหาะไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ของพราหมณ์) เป็นต้น ก็เมื่อพิจารณาด้วยสามัญสำนึกแล้วก็รู้ว่าเป็นการระบายสีลงไปให้สวยงาม เป็นการต่อเติมเสริมแต่ง ไม่มีสาระอะไร? แม้ว่าจะตัดเรื่องเหล่านี้ออกไปให้หมด พระพุทธศาสนาก็ไม่เสียคุณค่าอะไรลงไปเลย เพราะพระพุทธศาสนามีคุณค่าอยู่ที่สัจธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกเวลา ที่ไม่มีนักปราชญ์ชาติใดจะลบล้างได้แม้กาลเวลาล่วงเลยมา ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วก็ตาม
อวิชชา คือต้นเหตุแห่งทุกข์ ถ้าเหตุดับผลก็ดับไปเอง
    การที่รู้ว่าความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดมาจากความยึดมั่น (อุปาทาน) และความยึดมั่น มาจากความไม่รู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง (อวิชชา) เราก็ต้องศึกษาและปฏิบัติในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นธรรมสมังคี เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิ หรือ วิชชา เพื่อดับ อวิชชา ให้หมดไป ด้วยวิธีนี้ทุกข์ทั้งหลายก็จะหมดไป ดับไปอย่างสนิท ไม่เกิดขึ้นมาอีก
สมัยหนึ่งพระพาหิยะ ได้เข้าไปถามพระพุทธเจ้า ถึงวิธีดับทุกข์ที่สั้นๆ และปฏิบัติได้ง่ายๆ นั้นคืออะไร? ขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ จึงตรัสแก่พาหิยะว่า เวลานี้เป็นเวลาบิณฑบาตไม่ใช่เวลาแสดงธรรม พาหิยะเดินตามไปถามอย่างไม่ลดละ ครั้งที่ ๒ พระองค์ก็ทรงห้ามอย่างเดิมอีก พอครั้งที่ ๓ พระองค์เห็นว่าจิตของพาหิยะนั้นมีอินทรีย์แก่กล้าสมควรแสดงธรรมแล้ว จึงทรงตรัสว่า

   “ดูก่อนพาหิยะ เมื่อตาได้เห็นรูป ก็ให้เพียงสักแต่ว่าได้เห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง ก็ให้สักแต่ว่าได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น ก็ให้สักแต่ว่าได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส ก็ให้สักแต่ว่าได้ลิ้มรส เมื่อกายได้สัมผัส ก็ให้สักแต่ว่าได้สัมผัส เมื่อใจได้คิดนึกธรรมมารมณ์ ก็ให้สักแต่ว่าคิดนึก เมื่อเธอทำได้อย่างนี้ อัตตาตัวตนของเธอ ก็จะไม่มีอยู่ในโลกนี้หรือโลกไหนๆ นั่นแหละคือการสิ้นสุดแห่งทุกข์”

    เมื่อพาหิยะได้พิจารณาแล้วก็ได้บรรลุธรรมชั้นอนาคามี มีความปรารถนาจะบวชเป็นภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้า จึงออกไปแสวงหาบาตรและจีวร ปรากฏว่าในระหว่างนั้นได้ถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดเสียชีวิต

การปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า อินทรีย์สังวร คือการมีสติรู้ทัน มีปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย จิตใจก็ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์นั้นๆ ดำรงชีวิตอยู่เหนือโสมนัส และโทมนัส มีจิตอุเบกขาเป็นกลางอยู่ด้วยสติปัญญา ทำหน้าที่ทุกอย่างในชีวิตประจำวันได้โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น จึงเป็นชีวิตที่ไม่มีความทุกข์เลย


หลวงพ่อพุทธทาส ท่านให้คติธรรมคำกลอนไว้ว่า
 

“ความทุกข์เกิดที่จิตเพราะทำผิดเมื่อผัสสะ”
“ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ”
“ความทุกข์จะเกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ”
คนถึงธรรม ธรรมถึงคน จนจิตว่าง
ไม่ยึดถืออะไรสักอย่างหยุดหลงใหล
ไม่มีกูหรือของกูในสิ่งใด
ทุกทุกอย่างทำไปด้วยปัญญา

     อุปาทาน คืออะไร?

    ได้กล่าวไปแล้ว ต่อไปจะกล่าวถึง ขันธ์ห้าคืออะไร? จะรู้และเข้าใจว่าขันธ์ห้า คืออะไร? จำเป็นจะต้องรู้ถึงขั้น ปรมัตถสัจจะ (Absolute Truth) เรื่อง รูป จิต เจตสิก นิพพาน เรื่องรูปจิต เป็นสภาวธรรมกลางๆ เป็นอัพพยากฤต ไม่ต้องทำอะไรมัน แต่จะจัดการกับ เจตสิก เพียงอย่างเดียว
   
    ถ้าเจตสิกไม่เกิดกับจิต คือจิตบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสแล้ว ก็ถึงนิพพาน ๆ คือผลที่ได้ปฏิบัติถูกต่อรูปจิตและเจตสิก เมื่อทำนิพพานให้แจ้งแล้ว จิตก็จะถึง วิมุตติ คือความหลุดพ้นเป็นอิสระ และเมื่อหลุดพ้นแล้วก็จะมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้วเรียกว่า “วิมุตติญาณทัสสนะ” เป็นการจบเรื่องพุทธศาสนาจบเพียงเท่านี้ ไม่ต้องเรียนอีกแล้ว เพราะดับทุกข์ได้แล้ว ดังมีพุทธภาษิตว่า “ขีณาชาติ วุสิตังพรหมจริยัง ตัณหายัง ขยมัชฌคา ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ตัณหาสิ้นไปแล้ว” คำว่าชาติสิ้นคืออะไรสิ้น ตอบ คือกิเลสสิ้น คำว่าพรหมจรรย์อยู่จบ คือจิตบริสุทธิ์ และสิ้นตัณหา มีความหมายเดียวกัน คือจิตบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ไม่ใช่สิ้นชีวิตหรือสิ้นวิญญาณ เจ้าชายสิทธัตถะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์ยังทรงจาริกไปประกาศธรรมอยู่ได้ถึง ๔๕ พรรษา แต่คนส่วนมากยังเข้าใจผิดไปเองว่า ชีวิตสิ้นบ้าง วิญญาณสิ้นบ้าง จึงเป็นการหลงทาง น่าเสียดายเวลาอันมีค่าของชีวิตที่ต้องสูญเสียอย่างเปล่าประโยชน์ “หลงทางเสียเวลา หลงติดยาเสียอนาคต หลงลาภยศเสียนิพพาน”
 

     ขันธ์ห้า คืออารมณ์ของวิปัสสนาผู้ปฏิบัติจะต้องเห็นเองส่วนที่เป็นรูปจิตหรือรูปนาม คือขันธ์ห้าๆ คือชีวิตของเราที่ประกอบด้วย ส่วนต่างๆ คือ

๑.รูปขันธ์ คือร่างกาย ฝ่ายวัตถุ (Materiality) รูปธรรม (Form) รู้อะไรไม่ได้ ประกอบขึ้นด้วยมหาภูตรูปหรือธาตุทั้ง ๔ คือ ดินน้ำไฟลม หรือ ของแข็ง ของเหลว พลังงาน และก๊าซ

๒.นามขันธ์ หรือจิต คือ ฝ่ายนามธรรม (Immateriality) ไม่มีรูปร่าง (Formless) ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา แต่รู้ได้ด้วยใจ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่เห็นได้ด้วยตาปัญญา (the Eye of wisdom) จิตทำหน้าที่ได้ ๔ อย่าง คือ

๒.๑ วิญญาณขันธ์ (Consciousness) คือ การรับรู้อารมณ์ต่างๆ ทางทวารทั้ง ๖ ถ้ารับรู้ทางตาก็เรียกว่า จักขุวิญญาณ แปลว่า การรับรู้ทางตา เป็นต้น ทางทวารอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
๒.๒ สัญญาขันธ์ (Perception) คือ การจำได้ หมายรู้ ระลึกได้ ความฝัน และคำสมมุติเรียกขานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

๒.๓ เวทนา คือ (Feeling) การรู้สึกที่เป็นสัญญาณเตือนภัยของกาย เช่น เจ็บ หิว เหนื่อย เมื่อย ง่วงนอน ปวดอุจาระ ปวดปัสสาวะ เป็นต้น

๒.๔ สังขารขันธ์ (Thinking) คือ การคิดหาเหตุผล และสั่งกายวาจา ให้กายทำให้ปากพูด เป็นต้น
รูป ๑ นาม ๔ รวมเรียกว่าขันธ์ห้า ๆ นี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แต่ด้วยอำนาจ อวิชชา ปุถุชน จึงไปยึดขันธ์ห้าว่าเป็นเรา เป็นของเรา เกิดอุปาทานขึ้น จึงเป็นทุกข์ ถ้ายึดมั่นมากก็ทุกข์มา ถ้ายึดมั่นน้อยก็ทุกข์น้อย ถ้าไม่ยึดมั่นเลย หรือหมดความยึดมั่นก็ไม่ทุกข์หรือหมดทุกข์ ได้แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย
มีข้อความในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าตอนหนึ่งว่า รูปูปาทานักขันโธ เวทนูปาทานักขันโธ ฯ ซี่งการแปลในสวดมนต์แปลนั้นทำให้เข้าใจยาก คือแปลว่า ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา ฯ การแปลที่เข้าใจง่ายและนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องไม่สับสนคือ การเข้าไปยึดรูปขันธ์คือร่างกายว่าเป็นเราเป็นทุกข์ การเข้าไปยึดความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเราเป็นทุกข์ ฯ แปลอย่างนี้ก็จะเข้าใจง่าย และนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องคือการดับอุปาทานอันเป็นตัวทุกข์ มิใช่ดับขันธ์ ๕ เพราะขันธ์คือชีวิต และชีวิตเป็นสิ่งกลางๆ เป็นอัพยากตธรรมมาไม่ดีไม่ชั่ว แต่สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นคือ อุปาทานขันธ์ หรือความยึดมั่นในขันธ์หนึ่งขันธ์ใดหรือทั้ง ๕ ขันธ์นั่นเอง

     เรื่องนี้ในสมัยพุทธกาลได้มีพระภิกษุได้ฟังธรรมเรื่องขันธ์จากพระพุทธเจ้าแล้วเข้าใจผิดว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ก็คิดจะทำลายขันธ์เพื่อดับทุกข์ เมื่อพระพุทธเจ้าปลีกวิเวกไปพักผ่อนอยู่ตามลำพัง ๑๕ วัน กลับมาเห็นพระภิกษุเหลืออยู่น้อยบางตา จึงถามพระอานนท์ ๆ กราบทูลว่า ได้พากันไปฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มๆ ละ ๕ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง บางรูปไปขอให้พวกโจรช่วยฆ่า โดยให้ผ้าจีวรและบาตรเป็นรางวัลให้แก่โจรก็มี พระพุทธองค์จึงเรียกพระภิกษุที่เหลือมาประชุม และแสดงธรรมเรื่องขันธ์ห้าและมหาสติปัฏฐานกันใหม่จนเกิดความเข้าใจ หลักจากนั้นก็ไม่มีพระภิกษุฆ่าตัวตายอีกเลย มีแต่พระภิกษุฆ่าอุปาทานเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น