วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม 2


ดวงตาเห็นธรรม 2
                                                                         พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ


        ในมงคลสูตร อันเป็นธรรมมงคล ๓๘ ประการของพระพุทธเจ้า (วัตถุมงคล สัตว์มงคล ต้นไม้มงคล น้ำมงคล ฯลฯ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา)
        ธรรมมงคล ๓๘ ประการเป็นมงคลแห่งชีวิต (ไม่ใช่วัตถุมงคล)
        มงคลข้อที่ ๑ – ๓๐ เป็นโลกียธรรม คือ.
ไม่คบคนพาล, คบแต่บัณฑิต, การบูชาบุคคลที่ควรบูชา, การอยู่ในประเทศอันสมควร, การทำบุญไว้ในกาลก่อน, การตั้งตนไว้ชอบ, การได้ยินได้ฟังมาก, ความฉลาดในหัตถกรรมและศิลปะ, ความเป็นผู้มีวินัย, การกล่าววาจาอันดีงาม, การบำรุงมารดาบิดา, การสงเคราะห์บุตร, การสงเคราะห์ภริยา, การงานไม่คั่งค้าง, การบริจาคทาน, การประพฤติธรรม, การสงเคราะห์ญาติ, การทำการงานอันปราศจากโทษ, การงดเว้นจากบาปอกุศล, การสำรวมในการดื่มน้ำเมาหรือยาเสพติดให้โทษ, ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย, การเคารพต่อผู้ที่สมควร, ความอ่อนน้อมถ่อมตน, ความสันโดษ, ความกตัญญู, การฟังธรรมตามกาล, ความอดทน, ความเป็นผู้ว่าง่าย, การเห็นสมณะ, การสนทนาธรรมตามกาล. (การดำเนินชีวิตด้วยมงคลชีวิตเป็นชีวิตที่ดีมีคุณค่า)
        มงคลข้อที่ ๓๑– ๓๘ เป็นระดับโลกุตรธรรม
ข้อที่ ๓๑ อินทรีย์สังวร(ความเพียรละกิเลส) คือการควบคุมตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ ด้วยสติปัญญาให้กายสุจริต ๓, วจีสุจริต ๔, มโนสุจริต ๓ รวมเรียกว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นศีลที่สมบูรณ์แบบหรือเป็นหลักมนุษยธรรมของชาวพุทธ มีครบทั้งศีลกาย ศีลวาจา และศีลใจ
ข้อที่ ๓๒ การประพฤติพรหมจรรย์ (ทำจิตให้บริษุทธิ์ตามนัยมรรคมีองค์ ๘ ) เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอริยบุคคล ๔ จำพวก
ข้อที่ ๓๓ การเห็นแจ้งปฏิจจสมุปบาท ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงถึงซึ่ง “วิชชา”
ข้อที่ ๓๔ การทำพระนิพพานให้แจ้ง (จิตบริสุทธิ์สิ้นเชิง) ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานใดๆ ถึงซึ่ง “วิมุตติ”
ข้อที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ข้อที่ ๓๖ จิตไม่โศก ข้อที่ ๓๗ จิตสิ้นธุลี ข้อที่ ๓๘ จิตเกษม มงคลข้อที่ ๓๕ - ๓๘ รวมเรียกว่าจิตถึงความเป็นเอกสี่ขั้น เป็นความหมายของ นิพพาน ในชีวิตประจำวัน มีหลักฐานในอังคุตตรนิกายติกนิบาต และในขุททกนิกาย
        มงคล คือ เหตุที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ ในพระพุทธศาสนามีแต่ธรรมมงคล ๓๘ ประการเท่านั้น มงคลอื่นนอกจากนี้เช่น วัตถุมงคล ต้นไม้มงคล สัตว์มงคล น้ำมงคล สายมงคล ไม่มีในพระพุทธศาสนา จิตผ่องแผ้ว จิตขาวรอบ จิตบริสุทธิ์ พรหมจรรย์ มีความหมายเดียวกัน คือสิ้นกิเลสสิ้นทุกข์ เป็นโลกุตรธรรม(ธรรมเหนือโลก) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จิตถึงความเป็นเอกสี่ขั้น คือถึงนิพพาน ที่ถูกต้องตรงตาามปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องในชาตินี้ไม่ใช่นิพพานในชาติหน้าภายหลังตาย ที่มีการสอนกันทั่วไปว่านิพพานคือตายแล้ววิญญาณสูญ ไม่ไปเกิดอีกต่อไป ซึ่งเป็นคำสอนของลัทธิ วิญญาณนิยม (Animism) โดยถือเอาวิญญาณเป็นอัตตา (Soul) ไม่ใช่พระพุทธสาสนา หรือปรัชญา พุทธนิยม (Buddhism) เรื่องวิญญาณเป็นอัตตาตัวตนเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นคำสอนของลัทธิศาสนาอื่นที่แทรกซึมเข้ามาในคัมภีร์พุทธศาสนาในภายหลังจนกลายเป็นพุทธศาสนาเนื้องอกในที่สุดก็แตกแยกออกเป็นมหายานนิกายต่างๆ คำสอนเพี้ยนๆ เช่นนี้ทำความสับสนให้แก่พุทธบริษัทเป็นอันมาก




เรียนประวัติอย่างมนุษย์พุทธเจ้า
คือต้นเค้าพุทธแท้ไม่แปรผัน
พราหมณ์เข้าแปลงแต่งเติมเสริมนานวัน
แล้วเรียกกันใหม่ว่ามหายาน
มหายานขนานนามตามชื่อพุทธ
เรียกว่าบาปบริสุทธิ์คงจะได้
ไม่มีเค้าเก่าเหลือสิ้นเยื่อใย
พราหมณ์แต่งเติมตามใจใช้อัตตา
ให้วิญญาณเวียนวนคนเกิดตาย
ผิดความหมายตรัสรู้ดูไร้ค่า
ไม่เข้าใจอริยสัจอนัตตา
ถอนอุปาทานขันธ์ห้าไม่ได้เอยฯ
(พลตรีเดช ตุลวรรธนะ)

        พระพุทธประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าต้องช่วยให้มนุษย์พ้นจากทุกข์ทางใจในชีวิตนี้ ดังมีพุทธภาษิตรับรองอยู่ว่า
        “จงมาเถิดวิญญูชนถ้าเธอไม่กล่าวเท็จ ไม่โอ้อวด มีสัญชาติชื่อตรง ไม่มีมายา เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตพร่ำสอนอยู่ เธอจะปฏิบัติตามคำสอนอย่างเต็มความสามารถ เธอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในชีวิตปัจจุบันทันตาเห็นนี้”

       ในโอวาทปาฏิโมกข์ มีหลักสำคัญว่า
๑. สัพพปาปัสสะ อะกรณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. กุสลัสสู ปสัมปทา การทำความดีให้ถึงพร้อม
๓. สจิตตปริโยทปนัง การจิตให้บริสุทธิ์ (ขาวรอบ)

จะเห็นว่า ๒ ข้อแรก นั้นเป็นโลกียธรรม เป็นคำสอนในระดับพิธีกรรมและศีลธรรม เป็นสมมุติสัจจะ (Convention truth) เป็นสัจจะที่มนุษย์สร้างขึ้น ตามความเชื่อ และค่านิยมของสังคมในแต่ละท้องถิ่น ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน นานๆ เข้าก็กลายเป็นลัทธิศาสนาซึ่งไม่เหมือนกัน ไม่ใช่สัจจะที่แท้จริง และไม่อาจจะดับทุกข์ได้จริง เพราะยังไม่สามารถดับกิเลสได้ แม้ว่าจะเป็นคนดีในลัทธิศาสนานั้นๆ แล้วก็ตาม ก็ยังเป็นทุกข์ ยังมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่หมู่พวกของตัวเอง จึงยังมีการเบียดเบียนกัน ฆ่าฟันกันสงครามกันอยู่ต่อไป

ส่วนข้อที่ ๓ การทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นโลกุตตรธรรม เป็นคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะ (Absolute truth) เป็นความจริงแท้ เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มนุษย์สัตว์พืชและเทหวัตถุทุกชนิด ทั้งที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิต จะอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ (the Law of nature) ทั้งสิ้น การเรียนรู้ปรมัตถสัจจะ คือการเรียนรู้ตัวเองและธรรมชาติทั้งหลาย อย่างชนิดที่ถูกต้องตามความเป็นจริง (ยถาภูตธรรม) การเรียนเช่นนี้เรียนได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกเชื้อชาติ เพราะปรมัตถสัจจะ เป็นศาสนาสากลของมนุษย์ทุกคน ศาสนาที่แท้จริงของมนุษย์มีเพียงศาสนาเดียว และมนุษย์มีพระเจ้าองค์เดียวกัน คือ จิตบริสุทธิ์ ทางพุทธศาสนาเรียวกว่า วิสุทธิเทพ (Purification of God) ชื่อเรียกต่างกันนั้นไม่สำคัญ ๆ ที่สภาวะ พราหมณ์ฮินดู เรียกพรหม คริสต์เรียก ยโฮวา อิสลามเรียก อัลเลาะห์ พุทธเรียก นิพพาน ก็อย่าได้ทะเลาะกัน ขอให้มีสภาวะคือ จิตบริสุทธิ์ก็แล้วกัน เมื่อเข้าใจความหมายของพระเจ้าตรงกันแล้วก็ใช้ได้ มนุษย์ก็จะไม่รบกัน ไม่ทำสงครามกันเพราะเหตุที่นับถือศาสนาต่างกัน แต่ที่ยังรบกันอยู่แม้แต่ในศาสนาเดียวกันนั้น เป็นเพียงคำสอนในระดับลัทธิเล็กๆ ที่เชื่อผู้นำของพวกตนเท่านั้น ไม่ใช่เชื่อฟังพระเจ้า ถ้าเป็นระดับศาสนาแล้วจะต้องเชื่อฟังพระเจ้า และพระเจ้าที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือจิตบริสุทธิ์ การสอนให้มนุษย์มีความเห็นแก่ตัว เบียดเบียนกัน ฆ่าฟันทำสงครามกัน ไม่ใช่วิสัยของพระเจ้าผู้มีจิตบริสุทธิ์ มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ เมื่อผู้ใดเกิดอยู่ในสังคมของศาสนาใด ก็อย่าติดอยู่ที่เปลือกคือพิธีกรรมที่ต่างกัน แต่จงศึกษาปฏิบัติให้เข้าถึงแก่นคำสอนแห่งศาสนาของตน ก็จะพบว่ามนุษย์ทุกคนมีพระเจ้าองค์เดียวกัน มีศาสนาเดียวกันต่างกันแต่เพียงชื่อ และพิธีกรรมเท่านั้น แล้วมนุษย์ก็จะรักกันมีความสามัคคีกัน สันติภาพโลกก็จะเกิดขึ้น โลกจะพ้นจากภัยสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก


ถ้าข้าเป็นพุทธคริสต์อิสลาม
โดยถือตามลัทธิพิธีเป็นที่หมาย
คิดตรองดูเราต้องเป็นถึงสามนาย
จึงจะได้เสร็จสมอารมณ์นึก
ถ้าข้าเป็นพุทธคริสต์อิสลาม
โดยถือตามสัจจริงสิ่งรู้สึก
เพียงคนเดียวเป็นได้ดังใจนึก
คิดให้ลึกจะเห็นเช่นว่านี้
ไม่เป็นทั้งพุทธคริสต์อิสลาม
โดยถือตามลัทธิพิธีที่ยึดเหนี่ยว
มีแต่ความเป็นมนุษย์อยู่จุดเดียว
ที่ข้องเกี่ยวนั่นหรือคือพรหมจรรย์
(ฮัจยีประยูร วทานยกุล)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น