วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม 5


ดวงตาเห็นธรรม 5
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ

     
         ความทุกข์เกิดที่ไหน? ก็ดับที่นั่น
        ความทุกข์เกิดที่ผัสสะด้วยอวิชชา เมื่อจิตปุถุชนยสังมีอวิชชา ยังไม่มีความรู้เรื่องผัสสะอย่างถูกต้อง เมื่อกระทบอารมณ์ที่ผัสสะด้วยอวิชชา จึงเกิดความทุกข์ใจขึ้น คือจิตย่อมเกิดการปรุงแต่งไปในทางลบบ้าง ทางบวกบ้าง ทางกลางๆ บ้าง ทั้งนี้เพราะอารมณ์ที่มากระทบจิตนั้นมี ๓ ลักษณะด้วยกันคือ
       ๑. อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดี น่าใคร่น่าพอใจ (ฝ่ายโลภะ)
       ๒. อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ (ฝ่ายโทสะ)
       ๓. มัชฌัตตารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกลางๆ (ฝ่ายโมหะ)
       ลักษณะของการปรุงแต่งจิตของปุถุชนมีอวิชชา มี ๓ ลักษณะคือ
       ๑. ปุญญาภิสังขาร การปรุงเป็นฝ่ายบุญกุศล (ฝ่ายดี)
       ๒. อปุญญาภิสังขาร การปรุงเป็นฝ่ายบาปอกุศล (ฝ่ายชั่ว)
       ๓. อเนญชาภิสังขาร การปรุงเป็นฝ่ายระหว่างกลาง (ไม่ดีไม่ชั่ว)
ส่วนจิตของพระอรหันต์นั้นหมดอวิชชาแล้ว จึงไม่ไม่มีการปรุงเป็นพอใจไม่พอใจ เป็นฝ่ายชั่ว เป็นฝ่ายดี หรือเฉยๆ ด้วยโมหะ แต่จิตของพระอรหันต์จะรักษาความปรกติเอาไว้ได้ มีความวางเฉยด้วยปัญญา (อุเบกขาญาณสัมปยุต)
ความจริงคำว่าดับทุกข์นี้มิได้หมายความว่าต้องรอให้ทุกข์เกิดก่อนแล้วค่อยดับทุกข์นั้นให้หมดไปทีหลัง เช่นเดียวกับการปล่อยให้เกิดไฟไหม้ก่อนแล้วจึงเอาน้ำไปดับไฟ ซึ่งถ้าดับไฟได้ ก็ไม่อาจเรียกร้องเอาสิ่งที่สูญเสียกลับคืนมาได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ การดับทุกข์หรือการทำที่สุดแห่งทุกข์ก็เช่นเดียวกัน จะต้องป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นในขณะผัสสะ ทุกครั้งไป ไม่ใช่ปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นความทุกข์เกิดขึ้นแล้วจึงตามดับ




       ในบางครั้งสติปัญญามาไม่ทันทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นก่อน ก็ต้องสาวผลไปหาเหตุ แล้วดับที่เหตุผลทั้งหลายก็จะดับไปเอง ไม่ใช่ดับทุกข์ที่ปลายเหตุซึ่งไม่อาจจะดับได้จริง เป็นแต่เพียงกลบทุกข์ไว้ชั่วคราวเท่านั้น เช่นเกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้วไปเที่ยวหาความสนุกเพลิดเพลิน เปลี่ยนอารมณ์เพื่อให้ลืมความทุกข์ไปชั่วคราว หรือเมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นก็ไปทำสมาธิตามที่ต่างๆ เพื่อสะกดจิตให้อยู่กับอารมณ์เดียว ก็เป็นเพียงการกลบทุกข์ไว้ชั่วคราวเท่านั้น สมาธิที่ไม่ก่อให้เกิดปัญญาเรียกว่า สมาธิหัวตอ สมาธิที่ใช้เพื่อกลบทุกข์ไว้ชั่วคราวเรียกว่า สมาธิหินทับหญ้า เมื่อมีหินหญ้างอกขึ้นไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าหญ้าตาย เมื่อเอาหินออกหญ้าก็แทงหน่อขึ้นมาอีก อย่างนี้ไม่ใช่วิธีดับทุกข์ในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของลัทธิโยคะ และพวกดาบสต่างๆ ส่วนสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธินั้นจะต้องเป็นสมาธิที่เป็นบาทฐานของปัญญาเท่านั้น
การทำสมาธิและวิปัสสนาที่ทำให้เกิดอันตราย ความจริงการทำสมาธิและวิปัสสนานั้นเป็นของดีไม่มีโทษมีแต่เกิดประโยชน์ในการเจริญปัญญา เพื่อให้ถึงมรรค ผล นิพพาน แต่ที่เกิดโทษขึ้นนั้นเป็นเพราะทำไปโดยไม่รู้จักว่าสมาธิคืออะไร? วิปัสสนาคืออะไร? การทำสมาธิหรือสมถกรรมฐาน ก็คืออุบายทำให้จิตสงบ วิปัสสนา กรรมฐานก็คืออุบายทำให้เกิดปัญญา ทั้งสองอย่างนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเป็นสิ่งเดียวกัน ว่าโดยรวมแล้วศีล สมาธิ ปัญญา คือสิ่งเดียวกัน เป็น เอกาธรรมา ธรรมะหนึ่งเดียว แต่ทว่ามีคุณสมบัติอยู่สามประการ ในการปฏิบัติเบื้องต้นอาจจะแสดงออกต่างๆ กัน เช่นเมื่อจิตยังไม่สงบ ไม่เป็นกัมมนีโย คือยังไม่ควรแก่การงาน ก็ต้องทำสมาธิก่อน เพื่อให้จิตสงบเป็นกัมมนีโยเสียก่อน เช่นการเจริญอานาปานสติกรรมฐาน (กำหนดลมหายใจ) การเดินจงกรม อันเป็นส่วนหนึ่งของมหาสติปัฏฐานสี่ หรือกรรมฐานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เมื่อจิตสงบดีแล้ว เป็นกัมมนีโยแล้ว
        ลักษณะของสัมมาสมาธิ        คือ ๑.ปริสุทโธ ปราศจากนิวรณ์
        ๒.สมาหิโต แน่วแน่มั่นคง
        ๓.กัมมนีโย ควรแก่การงาน (วิปัสสนา)
เมื่อได้สัมมาสมาธิก็ยกจิตขึ้นเจริญปัญญาด้วยการทำวิปัสสนากรรมฐาน เอาสภาวะธรรมเป็นอารมณ์ เช่นขันธ์ห้า อริยสัจสี่ ปฏิจสมุปบาท ไตรลักษณ์ อนัตตา เป็นต้น คือการพิจารณาสภาวะธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นและดับไปในปัจจุบัน การเกิดดับของรูปนาม ธรรมที่เป็นกุศล อกุศล ที่เป็นกลางๆ พิจารณาดูปรมัตถธรรมสี่ คือ รูป จิต เจตสิก และนิพพาน ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาของตนเอง และให้ถือเอาสิ่งที่เห็นจริงนั้นเป็นหลัก เพราะเป็นการเห็นประจักษ์ด้วยประสบการณ์โดยตรง อย่าถือเอาตามตำราเป็นหลัก หรือผู้อื่นบอก สิ่งเหล่านั้นเอาไว้เพียงเป็นเครื่องเทียบเคียงเท่านั้น และเป็นเพียงความเชื่อ ที่ไม่ได้เห็นสภาวะ ถึงเราจะเชื่อก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เรา แต่เมื่อเราเห็นแจ้งด้วยปัญญาของเราเองแล้ว ก็ไม่ต้องเชื่อใคร หรือตำราไหนอีกต่อไป บางคนไปเชื่อตำรามากกว่าที่ปัญญาตนเห็น ก็จะเป็นปัญหาทำให้สับสนได้เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตนเองเห็นของจริงแล้ว แต่ไปขัดกับเหตุผลในตำรา ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ว่าที่ตนเห็นเป็นสันทิฏฐิโกนั้นผิด แต่ในตำราถูก กลายเป็นการปิดกั้นมรรคผลของตนเองไปได้เหมือนกัน ดังนั้นการใคร่ครวญอย่างละเอียดด้วยปัญญาเสียก่อนที่ปลงใจเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การพิจารณาใคร่ครวญตริตรองด้วยเหตุด้วยผล (Meditation) เพื่อให้เห็นความจริงอย่างถูกต้องนี่แหละคือการทำ
       
        วิปัสสนาภาวนา (Insigth development) แปลว่า การทำปัญญาเห็นแจ้ง การทำสมาธิ (Concentration) หรือ สมถภาวนา (tranquility development) เพียงอย่างเดียวไม่อาจจะทำให้เกิดปัญญาดับทุกข์ได้ และไม่หมดความงมงาย จิตไม่ผ่องใส ไม่ สะอาด สว่าง สงบ เย็นอย่างแท้จริงได้ วิชาทำสมาธิ หรือเข้าฌานเป็นวิชาของลัทธิโยคะ โดยมีท่านปตัญชลีเป็นอาจารย์ใหญ่ มีท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร และท่านอุทกดาบส รามบุตร เป็นศิษย์รุ่นหลัง เจ้าชายสิทธัตถะได้เคยไปเรียนกับ ๒ ท่านนี้จนหมดความรู้ของอาจารย์ทั้งสอง เมื่อพระองค์เห็นว่าการเข้าฌานมิใช่การดับทุกข์ที่แท้จริง เป็นแต่เพียงการกลับทุกข์ไว้เพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงได้ลาอาจารย์ทั้งสองไป ค้นคว้าหาวิธีดับทุกข์ด้วยตัวเอง พำนักอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และที่ถ้ำดงคสิริ อยู่ ๖ ปี จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ฉลาดไม่มีไหวพริบ และอยู่กับอาจารย์ดาบสทั้งสอง ตลอดไป ก็จะไม่มีพระพุทธเจ้า จะมีแต่ดาบส ๓ ท่านคือ อาฬารดาบส อุทกดาบส และ สิทธัตถดาบส เท่านั้น จะไม่มีพระพุทธศาสนาขึ้นในโลกนี้ และจะไม่มีวันวิสาขบูชาให้พุทธบริษัททั่วโลกได้จัดงานวิสาขบูชากันมาจนทุกวันนี้

       บางครั้งผู้ศึกษาก็ตีความตำราผิดไปได้เหมือนกัน เช่น มีพุทธภาษิตว่า “นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง” แปลว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” นั้นถ้าดูเผินๆ แล้วจะเข้าใจว่า การทำสมาธิให้ใจสงบนั่นแหละคือความสุขที่สูงสุด ไม่มีสุขอื่นใดที่ยิ่งไปกว่านี้แล้ว ความจริงแล้วสุขในสมาธิก็คือโลกียสุข เช่นเดียวกับกามสุข เพียงแต่ประณีตกว่าสงบระงับมากกว่าเท่านั้น เป็นสุขที่ไม่เที่ยงเกิดขึ้นชั่วระยะหนึ่งแล้วก็หายไป แต่นิพพานไม่ใช่เช่นนั้น เป็นสุขที่แท้ที่เที่ยงของมนุษย์ เมื่อถึงแล้วก็ไม่ต้องกลับมาเป็นทุกข์อีกต่อไป และในพระสูตรก็มีการใช้คำว่า สันติ แทน คำว่า นิพพาน หลายแห่งเพราะเป็นคำไวพจน์ต่อกันมีความหมายเหมือนกันใช้แทนกันได้ ฉะนั้นเพื่อให้เข้าใจพุทธภาษิตประโยคนี้ได้ถูกต้องจึงจำเป็นจะต้องแก้คำแปลเสียใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบระงับกิเลสไม่มี” เมื่อแปลถูกอย่างนี้จะมานั่นทำสมาธิกันอย่างเดียวแบบวิชาโยคะไม่ได้แล้ว ต้องยกจิตขึ้นวิปัสสนาด้วยจึงจะสงบระงับกิเลสได้ใช่หรือไม่? นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ยังมีอย่างอื่นอีกหลายประเด็นที่ผู้
        ศึกษาจะต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญหาเหตุหาผลให้พบข้อสรุปที่เป็นสัจธรรมให้ได้ด้วยปัญญาอันชอบของตัวเราเองเรื่องการทำสมาธิในปัจจุบันนี้สอนเพี้ยนไปมาก จนทำให้เข้าใจไปว่าเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ได้ด้วยการทำสมาธิ (เข้าฌาน) เช่นสอนว่า ให้ไปทำสมาธิบริกรรมไปเถอะ เมื่อจิตสงบแล้วก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาเอง เมื่อเกิดปัญญาแล้วจะเกิดญาณรู้แจ้งธรรมขึ้นมาเอง จิตใจจะบริสุทธิ์ผ่องใส จะเกิดความสบายทั้งกายและใจอย่างบอกไม่ถูก จะละถอนปล่อยวางอาสวะกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งหลายได้เอง ฯ…. ผู้มีหน้าที่สอนก็สอนตามๆ กันไป ถามว่าเอาที่ไหนมาสอนก็ตอบว่าเอาในหนังสือมาสอน หรืออาจารย์สอนมาอย่างนี้ทั้งๆ ที่ผู้สอน หรือตัวอาจารย์เองก็สอนกันมานานหลายสิบปี ทำสมาธิกันมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ก็ไม่มีอาจารย์รูปไหนได้สำเร็จดังที่ว่ามาเลย กลายเป็นสมาธิหัวตอ (ไม่มีสติและสัมปชัญญะ) หรือโมหาสมาธิ ไป เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็โง่เท่าเดิม ไม่ได้ปัญญาอะไรเพิ่มขึ้นมาบ้างเลย พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนไว้ที่ไหนเลยว่า จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยการทำสมาธิ พระองค์ตรัสว่า “ปัญญายะ ปริสุชชะติ” จิตจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา จิตบริสุทธิ์ มีผลมาจาก การทำวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น มิใช่เกิดจาก การทำสมถภาวนา
        การทำสมาธิโดยขาดปัญญา ทำให้ผู้ปฏิบัติเพี้ยนได้อย่างไร?
นักศึกษาบางท่านเมื่อได้รับกรรมฐานจากอาจารย์แล้วก็ตั้งใจปฏิบัติทำสมาธิกันอย่างจริงจัง ใช้ความเพียงมาก ไม่ได้มุ่งให้เกิดปัญญาดับทุกข์ แต่หวังให้ได้อิทธิปาฏิหารย์ต่าง ๆ ตามที่อาจารย์บอก หรือได้อ่านมาจากตำรา ว่าเมื่อทำสมาธิแล้วจะได้เห็นนรกสวรรค์ เห็นเทวดา เห็นสัตว์นรก เห็นวิญญาณผู้ตาย เห็นผีเห็นเปรตอสุรกายต่าง ๆ เห็นเรื่องราวในอนาคต เห็นเลขหวยเบอร์ ปัจจุบันอ่านนิทานวิทยาศาสตร์มาก เห็นจานบิน เห็นยานอวกาศ (UFO.) ติดต่อทางจิตกับมนุษย์ต่างดาวได้ก็มี เรื่องเช่นนี้ต่างประเทศเขามีมาก่อนเมืองไทย คนไทยไม่กี่คนที่ตามหลังเขา แต่หลอกคนโง่ๆ ให้หลงเชื่อได้ไม่น้อยเหมือนกัน เรื่องหลงตำรานี้น่าเห็นใจผู้ศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา เพราะมีตำราทางศาสนาจำนวนมากครึ่งเป็นพุทธเพี้ยน ตั้งแต่ชั้นต้นคือพระไตรปิฏก ก็มีเรื่องอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนาเข้ามาปนเปื้อนอยู่มากถึง ๖๐ % นอกจากนี้ก็มีตำราชั้นอรรถกถาซึ่งเพี้ยนมากขึ้นไปอีกตามกาลเวลาและความเห็นของผู้รจนา ต่อมาก็ชั้นฎีกา อนุฎีกา ต่อมาก็ชั้นใหม่สุด เกจิอาจารย์ต่างๆ แต่งขึ้น น่าเห็นใจที่บ้างคนติดตำรา ติดอาจารย์ เสียจนไม่สนใจกับพระพุทธเจ้าองค์จริงเสียเลย ส่วนมากร้อยทั้งร้อยจะติดอยู่ในหลักอัตตาแบบพราหมณ์สอน เล่ากันอยู่แต่นิทานโกหกวิญญาณเป็นตัวตน ตายแล้วไปเกิดในนรก ขึ้นสวรรค์ ไม่สนใจสัจธรรมในปัจจุบัน พูดอยู่แต่เรื่องก่อนเกิด บ้างเรื่องหลังตายบ้าง ไม่เข้าหลักตัดสินพระธรรมเลยแม้แต่ข้อเดียว แม้ว่าท่านเหล่านั้นจะปฏิบัติธรรมมานานหลายสิบปีก็ยังออกจากพราหมณ์ไม่ได้สักที ยังมีความงมงาย ยังกลัวผียังอ้อนวอนเทวดาอยู่เหมือนเดิม ยังต้องการความร่ำรวยยังติดใจอยู่ในโลกียสุขอย่างชาวบ้าน ที่สำคัญคือสอนคนอื่นให้งมงายไปด้วย ยิ่งมีคนนับถือมากความงมงายก็ยิ่งขยายออกไปมาก จนปัจจุบันนี้แทบจะไม่เหลือพุทธบริษัทที่แท้จริงในสังคมไทยเหลืออยู่เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น