วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม 1


ดวงตาเห็นธรรม 1
                                                                                   พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ

        คำว่า “ดวงตาเห็นธรรม” มาจากคำว่า ธรรมจักษุ ในภาษาสันสกฤตและ ธัมมจักขุ ในภาษาบาลี และคำว่า the Eye of Wisdom ในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา เพียงแต่รู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นตาธรรม หรือตาปัญญา หรือตาที่เห็นความจริงด้วยปัญญา ไม่ใช่ตาเนื้อ ที่ใช้สำหรับเห็น รูปารมณ์ แต่เป็น ตาใจ หรือ ตาปัญญา ที่ใช้เห็นสภาวะธรรมที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศล ฝ่ายกลางๆ และฝ่าย วิมุตติ (Freedom of mind) คือฝ่ายที่จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงคือ นิพพาน
        คำจำกัดความของ “ดวงตาเห็นธรรม” คือ “การรู้ถูกหรือเห็นถูกต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงนิพพานได้ในชีวิตนั้น”
        ดวงตาเห็นธรรม มีหลักฐานมาจากไหน? หลักฐานในพระสูตรต่างๆ และในพุทธประวัติและประวัติของพระอรหันต์สาวกต่างๆ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรกของโลก ต่อมาพระสาวกองค์แรกที่ได้ดวงตาเห็นธรรมคือพระอัญญาโกณทัญญะ ซึ่งเป็นพระสงฆ์องค์แรกของโลก ได้ดวงตาเห็นธรรมเมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบลง โกณฑัญญะโยคี (นับบวชในลัทธิโยคะ) หัวหน้าของปัญจวัคคีย์ ก็ยิ้มน้อยๆ พระพุทธองค์ทรงทราบได้ด้วยพระญาณ ก็ทรงเปล่งอุทานว่า “โกณฑัญญะ วตะโภ โกณฑัญโญๆ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ “ ต่อมาโกณฑัญญะ จึงได้สามัญญนามว่า “พระอัญญาโกณฑัญญะ”
        ฆราวาส ผู้ครองเรือน อุบาสก อุบาสิกา มีโอกาสได้ ดวงตาเห็นธรรมหรือไม่? ตอบ มีมากมาย ยกตัวอย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ดวงตาเห็นธรรมตั้งแต่อายุได้เพียง ๗ ขวบ นายยสะกุลบุตร บุตรของเศรษฐี ผู้เป็นประธานสภา ในเมืองพาราณสี ได้ไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในอาการที่จิตไม่สงบเดินบ่นพึมพำว่า ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ พระพุทธองค์ กล่าวว่าที่นี่ ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ เธอจงนั่งลงทำจิตให้สงบเราจะแสดงธรรมให้ฟัง เมื่อนายยสะ ได้ฟังธรรมครั้งแรก บรรลุ โสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน ได้ฟังธรรมครั้งที่สอง บรรลุ เป็นพระอรหันต์ ต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงบวชให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทรงกล่าวแต่เพียงว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ไม่ต้องกล่าวคำที่เหมือนกับที่ทรงบวชคนอื่นว่า เธอจงทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้แจ้งเถิด เพราะพระยสะได้ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้สิ้นแล้ว ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว



        ตามพุทธประวัติจะเห็นว่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลายนั้น เมื่อฟังธรรมครั้งแรกหรือครั้งต่อๆ มาก็จะได้ดวงตาเห็นธรรมก่อน แล้วค่อยสำเร็จมรรคผลในขึ้นที่สูงขึ้นไป จึงถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ทีหลังทั้งสิ้น
การได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งใหญ่ในพุทธประวัติ คือหลังจากที่พระองค์ได้โปรดพระยสะและสหายของพระยสะอีก ๕๕ องค์เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว พระองค์ได้ส่งพระอรหันตสาวกทั้ง ๖๐ องค์ ไปประกาศพรหมจรรย์ โดยตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอเป็นผู้ที่พ้นแล้วจากบ่วงแห่งมาร ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ เธอจงจาริกไป ประกาศพรหมจรรย์ ให้งดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด เพื่อประโยชน์แก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน และเพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เธอจงแยกย้ายกันไปองค์ละทาง อย่าไปทางเดียวกัน ๒ องค์ ส่วนเราก็จะยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฎิลสามพี่น้อง”
ในระหว่างทางพระองค์ก็เสด็จไปโปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ คน จากนั้นก็ไปที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง ซึ่งสำคัญตนว่าเป็นอรหันต์ เป็นอาจารย์ของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อโปรดให้ชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ กับบริวารอีก ๑๐๐๐ คน ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว ก็เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและเสนาอำมาตย์ข้าราชบริภารไพร่ฟ้าประชาชน ที่สวนตาลหนุ่ม ในการแสดงธรรมครั้งนี้ มีผู้ฟังถึง ๑๒ นหุต (ตำราแปลว่า ๑๒ หมื่น รู้สึกว่าจะมากเกินไป หรืออาจจะเป็น ๑๒ พัน ก็ได้) ได้มีผู้บรรลุโสดาปัตติผล ได้ดวงตาเห็นธรรม ถึง ๑๑ นหุต รวมทั้งกพระเจ้าพิมพิสารด้วย ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ๑ นหุต เป็นการได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งใหญ่ที่สุด มีจำนวนมากที่สุดในคราวเดียว

        มีหลักฐานจากพระสูตรและในบทสวดมนตร์ที่กล่าวถึงดวงตาเห็นธรรม เช่นมีพุทธภาษิต ว่า “โยธัมมังปัสสติ โสมังปัสสติ” ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา
ในสังฆาฏิสูตร เล่ม ๒๕ หน้า ๒๓๔ ข้อ ๒๗๒
     
       “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับชายสังฆาฎิของเราแล้ว เป็นผู้ติดตามเราไปข้างหลัง เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่ตามปรกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาทมีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุใด เพราะภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม จึงชื่อว่าไม่เห็นเรา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นอยู่ไกลเราแม้ ๑๐๐ โยชน์ แต่ใจของภิกษุนั้น ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดแรงกล้า ในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่นมีจิตมีอารมณ์อันเดียว สำรวมอินทรีย์โดยแท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุใด เพราะภิกษุนั้นเห็นธรรมจึงชื่อว่าเห็นเรา”
ในมหาหัตถิปโทปมสูตร พระสารีบุตรอ้างพุทธพจน์ว่า
       “โย ปฏิจจสมุปาทัง ปัสสสติ โส ธัมมังปัสสติ โยธัมมัง ปัสสติ โส ปฏิจจสมุปปาทัง ปัสสติ” ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท
        เมื่อวันเพ็ญเดือน๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้อะไร? จึงทำให้พระองค์สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอบ อริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท และอนัตตา ใช่หรือไม่? สัจจะเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาที่ลัทธิศาสนาอื่นไม่มีพระธรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าและเป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ได้นั้นคือ โลกุตรธรรม แปลว่าธรรมเหนือความทุกข์ และ ดวงตาเห็นธรรม ก็คือโลกุตตรธรรมขั้นต้นนั่นเองในบทสวดมนต์รตนนัตตยับฌามคาถา มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ธัมโม ปะทีโป วิย ตัสสะ สัตถุโน
พระธรรมของพระศาสดา สว่างรุ่งเรืองเปรียบดวงประทีป
โย มัคคะปากามะตะเภทะภินนะโก
จำแนกประเภทคือ มรรค ผล นิพพาน ส่วนใด
โลกุตตะโร โย จะ ตะทัตถะทีปะโน
ซึ่งเป็นตัวโลกุตตระและส่วนใดที่ชี้แนวแห่งโลกุตระนั้น
วันทามิ ธัมมัง อะหะมาทะเรนะ ตัง
ข้าพเจ้าไหว้พระธรรมนั้น โดยใจเคารพเอื้อเฟื้อ

ใจความที่นำมาสวดนี้แสดงให้เห็นว่าพระธรรมที่เป็นเนื้อแท้คำสอนของพระพุทธศาสนานั้น คือ โลกุตรธรรม ธรรมที่เหนือโลก เหนือความทุกข์ เป็นเรื่องมรรค ผล นิพพาน และส่วนที่เป็นเครื่องชี้แนวแห่งโลกุตรธรรมนั้น


ในบทสวดมนต์สังเวคปริกิตตนปาฐะ มีใจความว่า

อิธะ ตะถาคะโต โลเกอุปันโน
พระตถาคตเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้ดโดยพระองค์เอง
ธัมโม จะ เทสิโต นิยยานิโก
และพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์
อุปะสะมิโก ปรินิพพานิโก
เป็นเครื่องสงบกิเลส เป็นไปเพื่อปรินิพพาน
สัมโพธะคามีสุคะตัปปะเวทิโต
เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นธรรมที่พระสุคตประกาศ

จึงสรุปได้ว่า ผู้ที่ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือได้ธรรมจักษุ คือผู้ที่มีปัญญาจักขุ เห็นแจ้งในธรรมเครื่องออกจากทุกข์ ก็คือหลักอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท และหลักอนัตตา อันจะนำไปสู่ความสงบระงับกิเลส เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อปรินิพพาน อันเป็นจุดหมายปลายทางของพุทธบริษัท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น