ดวงตาเห็นธรรม 9
พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
๑. ทุกข์กาย (กายิกทุกข์ Bodily pain) ประกอบด้วย ก.ทุกขลักษณะ ได้แก่ เกิด แก่ ตาย เป็นต้น ข.ทุกขเวทนา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกอย่างนี้เป็นคุณสมบัติของชีวิต เมื่อมีชีวิตก็ต้องมีทุกข์กายเป็นธรรมดา เมื่อมีความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องไปหาหมอให้รักษา ทุกข์กายนี้ เป็นทุกข์ที่แก้ไขไม่ได้ เพียงแต่ให้บรรเทาลงได้บ้างก็เป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายไม่มีใครพ้นได้แม้แต่พระพุทธเจ้าก็จะต้องปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปี
๒. ทุกข์ใจ (เจตสิกทุกข์ Mental pain) เรียกว่า ทุกข์อุปาทาน คือทุกข์ที่เกิดจากความรู้ผิด (อวิชชา) เห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) และจำเอาไว้ผิดๆ (สัญญาวิปลาส) แล้วยึดมั่นในสิ่งผิดๆ นั้นอย่างเหนียวแน่น โดยไม่รู้ตัว (อุปาทาน) ผลก็คือเกิดความทุกข์ใจเพราะความยึดมั่นนั้นๆ ทุกข์เช่นนี้เรียกว่าทุกข์ใจ ๆ นั้นเป็นทุกข์ที่แก้ไขได้ ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ดับ คือทุกข์ใจเท่านั้น ไม่ได้สอนให้ดับทุกข์กาย และการดับทุกข์ใจให้ได้นั้น จะมีวิธีเดียวคือต้องใช้โลกุตรปัญญา หรือปัญญาสัมมาทิฏฐิเท่านั้น จะใช้โลกียปัญญาดับทุกข์ใจหาได้ไม่
ทุกข์อุปาทานนี้ในบทสวดมนต์สังเวคปริกิตตนปาฐะเรียกว่า สังขิเตนะ ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา ว่าโดยย่อการเข้าไปยึดขันธ์ห้าว่าเป็นเราเป็นทุกข์ ปัญจุปาทานขันธาทุกขา มาจากคำ ๓ คำ คือ ปัญจขันธ์ - อุปาทาน - ทุกขา รวมความแปลว่าการเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ห้าหรือขันธ์หนึ่งขันธ์ใด ว่าเป็นเรา เป็นของเราเป็นทุกข์ อุปาทานขันธ์ จึงเป็นทุกข์รวบยอดของพระพุทธศาสนา เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ไม่มีในลัทธิศาสนาอื่นๆ แต่มีชาวพุทธส่วนหนึ่งนำเอาตัวทุกข์นอกศาสนามาสอน เช่นอธิบายคำว่าชาติผิดๆ ว่า ชาติ คือการเกิดชีวิตจากท้องมารดา คือการเกิดมาของขันธ์ห้านี่แหละเป็นตัวทุกข์ การสอนเช่นนี้จึงนำไปสู่การดับทุกข์ที่ผิด คือการฆ่าตัวตายทำลายชีวิต เพื่อดับชีวิต (ขันธ์ห้า) จะได้หมดทุกข์ อย่างนี้เป็น สีลัพพตปรามาส (สังโยชน์ข้อ ๓) มีแต่ปุถุชนเท่านั้นที่เห็นผิดและปฏิบัติผิดเช่นนี้ ส่วนพระโสดาบันนั้นละสังโยชน์ ๓ ได้แล้วจึงไม่ฆ่าตัวตายอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์มากสักเพียงใดก็ไม่ฆ่าตัวตาย เพราะเห็นถูกแล้วว่า ทุกข์ใจต้องดับที่ใจ ไม่ใช่ดับที่กาย รุ้ว่าทุกข์ใจคือ อุปาทานขันธ์ จึงดับทุกข์ใจด้วยการดับอุปาทานขันธ์ ทุกครั้งไปเมื่อปฏิบัติถูกเช่นนี้ บ่อยๆ ก็จะทำให้ถึงนิพพานเร็วขึ้น และไม่ต้องเสียชีวิตไปในวัยที่ไม่สมควร ฉะนั้นการไม่ฆ่าตัวตายเพื่อดับทุกข์จึงเป็นอานิสงส์ของการได้ดวงตาเห็นธรรมประการหนึ่งด้วย