ดวงตาเห็นธรรม 9
พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
๑. ทุกข์กาย (กายิกทุกข์ Bodily pain) ประกอบด้วย ก.ทุกขลักษณะ ได้แก่ เกิด แก่ ตาย เป็นต้น ข.ทุกขเวทนา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกอย่างนี้เป็นคุณสมบัติของชีวิต เมื่อมีชีวิตก็ต้องมีทุกข์กายเป็นธรรมดา เมื่อมีความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องไปหาหมอให้รักษา ทุกข์กายนี้ เป็นทุกข์ที่แก้ไขไม่ได้ เพียงแต่ให้บรรเทาลงได้บ้างก็เป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายไม่มีใครพ้นได้แม้แต่พระพุทธเจ้าก็จะต้องปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปี
๒. ทุกข์ใจ (เจตสิกทุกข์ Mental pain) เรียกว่า ทุกข์อุปาทาน คือทุกข์ที่เกิดจากความรู้ผิด (อวิชชา) เห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) และจำเอาไว้ผิดๆ (สัญญาวิปลาส) แล้วยึดมั่นในสิ่งผิดๆ นั้นอย่างเหนียวแน่น โดยไม่รู้ตัว (อุปาทาน) ผลก็คือเกิดความทุกข์ใจเพราะความยึดมั่นนั้นๆ ทุกข์เช่นนี้เรียกว่าทุกข์ใจ ๆ นั้นเป็นทุกข์ที่แก้ไขได้ ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ดับ คือทุกข์ใจเท่านั้น ไม่ได้สอนให้ดับทุกข์กาย และการดับทุกข์ใจให้ได้นั้น จะมีวิธีเดียวคือต้องใช้โลกุตรปัญญา หรือปัญญาสัมมาทิฏฐิเท่านั้น จะใช้โลกียปัญญาดับทุกข์ใจหาได้ไม่
ทุกข์อุปาทานนี้ในบทสวดมนต์สังเวคปริกิตตนปาฐะเรียกว่า สังขิเตนะ ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา ว่าโดยย่อการเข้าไปยึดขันธ์ห้าว่าเป็นเราเป็นทุกข์ ปัญจุปาทานขันธาทุกขา มาจากคำ ๓ คำ คือ ปัญจขันธ์ - อุปาทาน - ทุกขา รวมความแปลว่าการเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ห้าหรือขันธ์หนึ่งขันธ์ใด ว่าเป็นเรา เป็นของเราเป็นทุกข์ อุปาทานขันธ์ จึงเป็นทุกข์รวบยอดของพระพุทธศาสนา เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ไม่มีในลัทธิศาสนาอื่นๆ แต่มีชาวพุทธส่วนหนึ่งนำเอาตัวทุกข์นอกศาสนามาสอน เช่นอธิบายคำว่าชาติผิดๆ ว่า ชาติ คือการเกิดชีวิตจากท้องมารดา คือการเกิดมาของขันธ์ห้านี่แหละเป็นตัวทุกข์ การสอนเช่นนี้จึงนำไปสู่การดับทุกข์ที่ผิด คือการฆ่าตัวตายทำลายชีวิต เพื่อดับชีวิต (ขันธ์ห้า) จะได้หมดทุกข์ อย่างนี้เป็น สีลัพพตปรามาส (สังโยชน์ข้อ ๓) มีแต่ปุถุชนเท่านั้นที่เห็นผิดและปฏิบัติผิดเช่นนี้ ส่วนพระโสดาบันนั้นละสังโยชน์ ๓ ได้แล้วจึงไม่ฆ่าตัวตายอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์มากสักเพียงใดก็ไม่ฆ่าตัวตาย เพราะเห็นถูกแล้วว่า ทุกข์ใจต้องดับที่ใจ ไม่ใช่ดับที่กาย รุ้ว่าทุกข์ใจคือ อุปาทานขันธ์ จึงดับทุกข์ใจด้วยการดับอุปาทานขันธ์ ทุกครั้งไปเมื่อปฏิบัติถูกเช่นนี้ บ่อยๆ ก็จะทำให้ถึงนิพพานเร็วขึ้น และไม่ต้องเสียชีวิตไปในวัยที่ไม่สมควร ฉะนั้นการไม่ฆ่าตัวตายเพื่อดับทุกข์จึงเป็นอานิสงส์ของการได้ดวงตาเห็นธรรมประการหนึ่งด้วย
เมื่อเข้าใจเรื่องทุกข์อริยสัจแล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่อง ทุกขสมุทยอริยสัจ ต่อไปเพราะเราจะเข้าใจอริยสัจสี่อย่างสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่ได้ผ่านเรื่อง ปฎิจจสมุปบาท เนื่องจากพระสารีบุตรได้กล่าวอ้างพระพุทธพจน์ว่า “โย ปฏิจจสมุปปันนัง ธัมมัง ปัสสติ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม” การเห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นการมีดวงตาเห็นธรรมประการหนึ่ง
ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร? ตอบ คือทฤษฎีที่อธิบายให้ทราบว่าทุกข์เกิดขึ้นและดับไปได้อย่างไร? เมื่อเราเข้าใจอย่างแจ่มแจังแล้วก็จะสามารถควบคุมและป้องกันทุกข์ทั้งปวงได้
ปฏิจจสมุปบาท มาจากคำ ๒ คำ คือ ปฏิจจะ แปลว่า อาศัยกัน สมุปบาท แปลว่า เกิดขึ้นพร้อม รวมความ ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม ถามว่า อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อมของอะไร? ตอบ เกิดขึ้นพร้อมของ รูป จิต และเจตสิก เพื่อให้เข้าใจง่ายเราต้องแบ่ง ปฏิจจสมุปบาทออกเป็น ๓ ส่วนคือ ส่วนที่เป็นรูปได้แก่ร่างกาย ส่วนที่เป็นจิตได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ส่วนที่เป็นเจตสิก คือ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ (อหังการ มมังการ) ซึ่งเป็นผลผลิตของ อวิชชาๆ เป็นเจตสิกเหตุ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เป็นเจตสิกผล ถ้าเราสามารถจัดการกับเจตสิกเหตุได้ เจตสิกผลทั้งหลายก็ดับ
ปฏิจจสมุปบาทคือกุญแจแห่งการตรัสรู้ มีอยู่ ๒ สาย
คือ ๑.สมุทยวาร (สายเกิดทุกข์) ๒.นิโรธวาร (สายดับทุกข์)
๑.สมุทยวาร (สายเกิด) เริ่มต้นที่ อวิชชา ปจยา สังขารา สังขาราปัจจยา วิญญาณัง วิญญาณะ ปัจจยา นามรูปัง เป็นต้น แปลว่าเมื่อมีอวิชชาเป็นปัจจัย ทำให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัย ทำให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยทำให้เกิดนามรูป เป็นต้น ไปถึง ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ สิ้นสุดที่ชาติ ส่วน ชรา มรณะ และความทุกข์ทั้งหลาย ฯ นั้นเป็นผลพวงมาจาก ชาติ นี่เป็นฝ่ายเกิด (สมุทัย)
คำว่า ชาติ ในปฏิจจสมุปบาทมี ๒ ความหมาย คือ
๑. ภาษาคน ชาติ หมายถึง การเกิดชีวิตจากท้องแม่ (เป็นอดีตแก้ไขอะไรไม่ได้)
๒. ภาษาธรรม ชาติ หมายถึง การเกิดอหังการ มมังการ (ตัวกู ของกู)นำไปสู่อุปาทานขันธ์ คือการกิเลสในจิตใจ (เป็นปัจจุบัน แก้ไขป้องกันได้)
แยกกล่าวให้เห็นชัดการทำงานของปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๑ ปัจจยาการ ในฝ่ายเกิดทุกข์ และฝ่ายดับทุกข์ ดังนี้.-
๑. ฝ่ายเกิดทุกข์ (สมุทยวาร)
อวิชชา (ความโง่) ก่อให้เกิด สังขาร (การปรุงแต่ง) อย่างโง่
สังขาร (โง่) ก่อให้เกิด วิญญาณ (คือธาตุรู้ในระหว่างมีชีวิต) ที่โง่
วิญญาณ (โง่) ก่อให้เกิด นามรูป (ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต) อย่างโง่
นามรูป (โง่) ก่อให้เกิด สฬายตนะ (การทำงานของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อย่างโง่
สฬายตนะ (โง่) ก่อให้เกิด ผัสสะ (การกระทบระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในและวิญญาณการรับรู้) อย่างโง่
ผัสสะ (โง่) ก่อให้เกิด เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ (อหังการมมังการ) นำไปสู่อุปาทานขันธ์ (ตัวทุกข์รวบยอด)
๒. ฝ่ายดับทุกข์ (นิโรธวาร) เริ่มต้นที่ วิชชา และวิชชาจะเกิดขึ้นเมื่ออวิชชาดับไป ดังคำสวดที่ว่า อวิชชายเตววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ สังขาระนิโรธา วิญญาณนิโรโธ วิญญาณะนิโรธาฯ แปลว่าเมื่ออวิชชาดับไป สังขารก็ดับ เมื่อสังขารดับ วิญญาณก็ดับ เมื่อวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ ฯ ไปจนถึง ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ดับ ทุกข์ทั้งหลายก็ดับหมด นี่เป็นฝ่ายดับ (นิโรธ)
ตามภาษาที่พระสวดนี้เข้าใจยาก อาจเข้าใจผิดไปเป็นแบบลูกโซ่ก็ได้ จึงขออธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น สายดับนี้จะเริ่มต้นที่ วิชชา (ไม่โง่) ทำให้การทำงานของสังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ที่อาศัยกันเกิดพร้อมกันนั้นไม่โง่ไปโดยตลอด
ทำให้ผัสสะ คือการกระทบระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอกและวิญญาณ เช่น การที่จิตเห็นรูปทางตา จิตได้ยินเสียงทางหู เป็นต้น นั้นไม่โง่ คือมีสติรู้ทัน มีปัญญารู้เท่าอยู่เสมอ เราก็จะควบคุมอารมณ์ให้หยุดอยู่ที่ผัสสะ ไม่ก่อให้เกิดเวทนาที่เป็นทุกข์ (เจตสิกเวทนา) ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ (อหังการ มมังการ) ก็ไม่เกิด อุปาทานขันธ์ (ตัวทุกข์รวบยอด) นี่คือที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งปวง
อุปาทานขันธ์ (ตัวทุกข์รวบยอด) เกิดขึ้นได้อย่างไร?
มีข้อความในมหาปุณณมสุตรว่า “อุปาทานขันธ์ เกิดขึ้นได้เพราะการเกิดขึ้นแห่ง อหังการ มมังการ (ความยึดมั่นผิดว่าตัวกู-ของกู) โดยอาศัย อัสสาทะและ ฉันทะ (ความเพลินและความพอใจ) ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รวมเรียกว่า เบญจกามคุณ (อันผูกมัดสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในโลกีวิสัย) เป็นเครื่องนำเข้า
อุปาทานขันธ์จะดับไปก็เพราะการดับไปแห่ง อหังการ มมังการ โดยการใช้สติ รู้ทัน ปัญญา รู้เท่า ให้เห็นโทษ (อาทีนพ) ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (เบญจกามคุณ) เพื่อคลายความยึดติด (นิสสรณะ) ไม่หลงติดอยู่ในความเย้ายวนของโลกีย์ เพราะละ ฉันทราคะ เสียได้ สิ้นอหังการ มมังการ (หมดตัวกู ของกู) เป็นเครื่องนำออก นั่นคือการถอนความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าเสียได้ นั่นแหละจึงเป็นที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง
ขณะที่พระโมคคัลลานะ กำลังนั่งทำสมาธิโงกง่วงอยู่ที่หมู่บ้านกัลวามุตตคาม พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด บอกวิธีทำลายความง่วงให้แก่พระโมคคัลลานะ ในโอกาสนั้น พระโมคคัลลานะได้ทูลถามพระองค์ ถึงข้อธรรมคำสอนที่มีใจความสั่นที่สุดที่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” แปลว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น” พระโมคคัลลานะ ได้นำไปใคร่ครวญไม่นานก็บรรลุอรหัตตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในคืนวันนั้นเอง
โดยสัจธรรมแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นยึดมั่นไม่ได้อยู่แล้ว แต่เพราะจิตปุถุชนยังมีอวิชชาอยู่เต็มร้อย จึงหลงเข้าไปยึดมั่นจึงเกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะความยึดมั่นนั้น ส่วนพระอรหันต์นั้นท่านมีจิตบริสุทธิ์ปราศจากอวิชชา แต่กลับมี วิชชา (โลกุตตรปัญญา) เข้ามาแทนที่ จึงไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น จึงไม่เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุ มรรค ผล นิพพานนั้น จะต้องเพิ่มพูนวิชชา ให้เจริญงอกงามอยู่เสมอ จนกว่าจะมีวิชชาอย่างสมบูรณ์เต็มร้อย เช่นจิตของพระอรหันต์ทั้งหลายนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าความทุกข์ทั้งหลายมี อวิชชา ป็นแดนเกิด เรามีหน้าที่จะต้องทำลายอวิชชาให้หมดไป ด้วยการทำวิปัสสนา คือการทำปัญญาเห็นแจ้ง หรือการพัฒนาปัญญาให้เกิดโลกุตตรปัญญา หรือ วิชชา นั่นเอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมมาทิฏฐิ แปลว่าความเห็นถูกหรือความเห็นชอบ ดังมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพทุกขัง อุปัชชคา จะดับทุกข์ทั้งปวงได้ด้วยการสมาทานความเห็นถูก”
ความเห็นถูกจะเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัย ๔ อย่าง (โสตาปัตติยังคะ)
๑. กัลยาณมิตร คือ ได้พบผู้รู้ถูก
๒.ปรโตโฆษะ คือ ได้ฟังเสียงจากกัลยาณมิตร
๓.โยนิโสมนสิการ คือ ได้ใช้ปัญญาพิจารณาตามเสียงนั้น
๔.ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือ ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม
เมื่อเราเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความเห็นที่ตรงตามสภาวะธรรมที่เป็นจริง ก็เรียกว่าผู้มี ดวงตาเห็นธรรม ต้องถูกต้องด้วยตรงเป้าด้วย คือทำให้ดับสังโยชน์๓ (เครื่องร้อยรัดกิเลสให้ติดอยู่กับจิต) คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ได้นั่นคือตรงทางตรงเป้า (โสดาปัตติมรรค)
ความทุกข์ทั้งหลายเกิดในปัจจุบันขณะที่ผัสสะด้วยอวิชชา
ความทุกข์เกิดที่จิตเพราะทำผิดเมื่อผัสสะ
ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เมือผัสสะ
ความทุกข์จะเกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ
การกระทบอารมณ์มิได้เกิดกิเลสเสมอไป จะต้องมีปัจจัยสำคัญคืออวิชชาด้วย ถ้าปราศจากอวิชชา เช่นจิตของพระอรหันต์แล้วจะกระทบอารมณ์อย่างไรก็ไม่เกิดกิเลสไม่เกิดทุกข์ เพราะมีความสมบูรณ์ด้วย สติ (รู้ทัน) ปัญญา (รู้เท่า) แล้วนั่นเอง
การเวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร หรือทะเลแห่งความทุกข์นั้นมี ๒ ความหมาย คือ
การเวียนว่ายภาษาคน วิญญาณเป็นตัวตน เมื่อสิ้นชีวิตจะออกจากร่างเวียนว่ายไปตามภพภูมิต่างๆ จะไปนรกอยู่ใต้ดิน หรือไปสวรรค์บนฟ้า ก็ต้องตายเสียก่อนจึงจะไปได้ จะไปนิพพานก็ต้องตายก่อนแล้ววิญญาณ สูญ ไม่ไปเกิดอีก จึงจะถึงนิพพาน เรียกว่า นิพพานตายสูญ นิพพานอย่างนี้ไม่มีคนเอา คนอยากเกิดอีกจึงแห่ไปเอาสวรรค์กันหมด
การเวียนว่ายภาษาธรรม วิญญาณเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน คน สัตว์ เป็นสังขตะธรรม การเกิดขึ้นและดับไปของวิญญาณ เป็นการเกิดขึ้นแบบปฏิจจสมุปบาท คือสิ่งนั้นไม่มีอยู่ก่อน แต่จะมีเมื่อมีเหตุปัจจัยมารวมกัน เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดวิญญาณ (การรับรู้) คือ
๑. ต้องมีชีวิต
๒. ต้องมีอวัยวะรับรู้ดี
๓. ต้องมีอารมณ์มาให้จิตรู้
๔. ต้องมีความตั้งใจ (โยนิโสมนสิการ)
ความทุกข์ก็เช่นเดียวกัน จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยคือ
๑. ต้องมีจิต
๒. ต้องมีอารมณ์มาให้จิตรู้
๓. ต้องมีอวิชชา
กิเลสและความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ได้แก่จิตของพระอรหันต์
๑. ต้องมีจิต
๒.ต้องมีอารมณ์มาให้จิตรู้
๓. ต้องมีวิชชานี่คือ
ทฤษฎีของการเกิดแบบปฏิจจสมุปบาท ของสิ่งที่เป็นสังขตธรรม มีการเกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัยอย่างนี้ เมื่อเราจับทฤษฎีกิเลสได้ถูก (ปริยัติ) ได้ถูกต้อง (งามในเบื้องต้น) ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติ (ปฏิบัติ) ได้ถูกต้อง (งามในท่ามกลาง) และผลที่ได้รับ (ปฏิเวธ) ก็ถูกต้องไปด้วย (งามในที่สุด) ในปัจจุบันมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องมากมายทำให้หลงทางและเกิดอาการเพี้ยนๆ ไปเป็นจำนวนมาก เป็นบ้าไปก็มี จะโทษหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ จะต้องโทษตัวเองที่ไม่ศึกษาหาความรู้ให้ถูกต้องเสียก่อนที่จะปฏิบัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น