วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม 10


ดวงตาเห็นธรรม 10 (จบหลักสูตร)
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
     พุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ทำให้คนเป็นบ้า แต่จะทำให้คนบ้าหายบ้ากลับมาเป็นคนดี และทำคนดีให้เป็นพระอริยบุคคล ยกตัวอย่างนางปฏาจารา เล่าสั้นๆ ว่าเธอเคยเป็นลูกสาวเศรษฐีมีฐานะร่ำรวยมาก แต่ต้องเป็นบ้าเพราะกระทบกับอารมณ์อันหนักเธอต้องสูญเสียทุกอย่าง ทั้งสามี ลูกน้อยอีก ๒ คน พ่อแม่พี่ชาย และบ้านก็ถูกไฟไหม้ หมดที่พี่งทุกสิ่งทุกอย่าง เธอมีความทุกข์ใจมากจนผู้หญิงคนหนึ่งรับสภาพนั้นไม่ได้ เธอจึงกลายเป็นคนวิกลจริตไปในที่สุด เธอไม่รู้สึกตัวขาดสติ ไม่มีความละอาย แก้ผ้าเดินอยู่ตามถนนในเมืองสาวัตถี ต้องขอทานเขากินไปวันๆ หนึ่ง ไปที่ไหนก็ถูกเขาไล่ถูกคนรังเกียจ แต่เธอกลับเป็นผู้หญิงที่โชคดีมากเมื่อเธอได้พบพระพุทธเจ้า และได้ฟังคำสอนจากพระองค์ เธอได้สติ อาบน้ำชำระกายให้สะอาด นุ่งผ้าให้เรียบร้อยเพื่อเข้าสังคม เธอตั้งใจรับคำสอนจากพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเธอ ไม่นานเธอก็ได้บวชเป็นภิกษุณี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา เธอได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้ที่เลิศทางพระวินัย

     อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องพระสุปปพุทธะ เดินท่านเป็นคนขอทานเป็นโรคเรื้อน ต้องถือกระเบื้องไปขอทานเขากิน ไปไหนก็มีแต่คนรังเกียจ วันหนึ่งท่านถือกระเบื้องขอทานไม่ได้อาหารเลย ไปเห็นกลุ่มพระสาวกซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ก็คิดว่าอาจจะมีอาหารเหลืออยู่บ้าง เมื่อเข้าไปใกล้ก็ถูกพระสาวกไล่ พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสาวกไม่ให้ไล่ สุปปะพุทธะเห็นว่าไม่มีอาหารแน่แล้วก็เลยวางกระเบื้องตั้งใจฟังธรรม เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบ สุปปพุทธะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อหน้าพระพักตร์นั่นเอง นี่แสดงให้เห็นว่าความลำบากยากจน ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเจริญปัญญาสัมมาทิฏฐิในพระพุทธศาสนาเลย



     เรื่องนี้ทำให้เราทราบว่า ความทุกข์ ความจน ความอนาถาไม่มีที่พึ่งทางร่างกายนั้นไม่สำคัญ ไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการปฏิบัติธรรมเลย ตรงกันข้ามการมีความทุกข์มากๆ กลับเป็นผลดี เพราะเหตุความทุกข์นั้นจะผลักดันให้เกิดการแสวงหาหนทางที่จะดับทุกข์ และเมื่อพบแล้วก็จะตั้งใจปฏิบัติอย่างสุดความสามารถในที่สุดทุกข์นั้นก็จะผลักดันให้ถึงมรรคผลนิพพานได้เร็วขึ้นอีกด้วย ส่วนผู้ที่มีความสุขทางเนื้อหนังวัตถุต่างๆ เพลินอยู่ไม่สนใจเรื่องการแสวงหาปัญญาเพื่อดับทุกข์ ก็ปิดหนทางแห่งความดับทุกข์ของตนเองโดยไม่รู้ตัว บางคนมารู้ตัวเมื่อใกล้จะตายแล้วก็ทำอะไรไม่ทัน เกิดมาทั้งทีได้เป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ปล่อยโอกาสให้ผ่านไป กลายเป็นผู้มืดมามืดไป มีชีวิตที่มืดมน เป็นทุกข์มาตลอดชีวิตไม่เคยได้พบเห็นความสุขที่แท้จริง คือนิพพาน เสียเลย น่าเสียดายเวลาอันมีค่าของชีวิต แทนที่จะเอาชนะกิเลสตัณหา เพื่อจะได้มีชีวิตอย่างอิสระ กลับเป็นทาสของกิเลสตัณหาไปจนตาย น่าอายต่อนางปฏาจาราและท่านสุปปพุทธะเสียบ้าง
     โลกุตรธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะถ้าปราศจากโลกุตรธรรมแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะไม่แตกต่างอะไรไปจากลัทธิศาสนาทั้งหลายในโลก และ ดวงตาเห็นธรรม ก็คือโลกุตรธรรมขั้นต้นที่มีความสำคัญมาก ดังนั้นพุทธบริษัททุกคนควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันศึกษาและปฏิบัติในโลกุตรธรรมเพื่อรักษาหลักธรรมคำสอนนี้ให้ยั่งยืนสืบไป
พระพุทธเจ้าทรงเป็นห่วงใยในโลกุตรธรรมที่พระองค์ได้ประกาศและขอร้องให้พุทธบริษัททุกคนช่วยกันรักษาไว้ ให้อยู่คู่โลก เป็นแสงสว่างในโลกที่มืดต่อไป ดังมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ใน อาณีสูตร เกี่ยวกับการอันตรธานของคำสอนของพระองค์เกี่ยวกับโลกุตรธรรม มีใจความว่า
สมัยหนึ่งยังมีกลองไม้หุ้มด้วยหนังของพวกกษัตริย์ทสารหะ ชื่อว่ากลอง อานากะ มีอยู่ เมื่อกลองอานากะมีแผลแตกหรือปริ พวกกษัตริย์ได้เอาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่มแล้วตอกเสริมเข้าไปในรอยแตกทุกครั้งไป ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต ก็ถึงสมัยหนึ่งที่เนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลือไว้แต่เนื้อไม้ใหม่ที่ตอกเสริมเข้าไปเท่านั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลายฉันใดก็ฉันนั้น
     “เยเต สุตตันตา ตถาคตภาสิตาคัมภีรา คัมภีรัตถา โลกุตตรา สุญญตัปปฏิสังยุตตา”
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุตตันตะคือคำสอนเหล่าใด ที่เป็นคำกล่าวของตถาคต มีข้อความลึกมีความหมายซึ้ง เป็นธรรมชั้นโลกุตตระ (ธรรมะเหนือความทุกข์) ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา (ความว่างจากกิเลส) เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านี้มากล่าวอยู่ เธอจะไม่ฟังด้วยดี เธอจะไม่เงี่ยหูฟัง เธอจะไม่ตั้งใจที่จะรู้ทั่วถึง และเธอจะไม่สำคัญเป็นสิ่งที่ควรศึกษาเล่าเรียน

     “เยเต สุตตันตา กวิกตา กาเวยยา จิตตักขรา จิตตัพพยัญชนา พาหิรกา สาวกภาสิตา” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุตตันตะคือคำสอนเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่เป็นคำร้อยกรอง มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก ไม่เป็นธรรมชั้นโลกุตตระ (ธรรมชั้นเหนือความทกุข์) และไม่เกี่ยวข้องกับสุญญตา (ความว่างจากกิเลส) มากล่าวอยู่ เธอจักฟังด้วยดี จะเงี่ยหูฟัง จัดตั้งจิตที่จะรู้ทั่วถึง และจักเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรศึกษาเล่าเรียน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอันตรธานของสุตตันตะที่คำสอนของตถาคต มีข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นธรรมชั้นโลกุตตระ (ธรรมชั้นเหนือความทุกข์) ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา (ความว่างจากกิเลส) ย่อมอันตรธานไปด้วยเหตุดังนี้แล

     แนวทางปฏิบัติเพื่อถึงซึ่งความดับทุกข์มีหลักฐานปรากฏอยู่ในกุณฑลิยสูตร มีใจความว่า
      วิชชา และ วิมุตติ เกิดขึ้นได้เพราะการทำให้ โพชฌงค์เจ็ด เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์
โพชฌงค์เจ็ด จะเกิดขึ้นได้เพราะการทำให้ สติปัฏฐานสี่ บังเกิดขึ้นโดยบริบูรณ์
สติปัฏฐานสี่ จะเกิดขึ้นได้เพราะการทำให้ สุจริตสาม บังเกิดขึ้นโดยบริบูรณ์
สุจริตสาม จะเกิดขึ้นได้เพราะการทำให้ อินทรีย์สังวร บังเกิดขึ้นโดยบริบูรณ์
อินทรีย์สังวร คือการควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้หลงมัวเมาใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ จนเกินพอดี (ไม่ใช่การนั่งปิดหูปิดตาไม่รับรู้อารมณ์)

     ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในอาณาปานสติสูตร มีใจความว่า
     อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้เกิดสติปัฏฐานสี่ โดยบริบูรณ์
สติปัฏฐานสี่ อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้เกิด โพชฌงค์เจ็ด โดยบริบูรณ์
โพชฌงค์เจ็ด อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้เกิด วิชชา และ วิมุตติ โดยบริบูรณ์
จะเห็นได้ว่าแนวทางในการปฏิบัติธรรมเพื่อจะได้ ดวงตาเห็นธรรม และคุณเบื้องสูงขึ้นไปถึง วิชชา และ วิมุตติ จาก ๒ สูตรนี้ และในมงคลสูตรที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น นั่นก็คือ อินทรีย์สังวร และ อานาปานสติ เพื่อให้เกิด สติ ความรู้ทัน และ ปัญญา ความรู้เท่า อย่างเพียงพอที่จะรักษาธรรมชาติเดิมแท้ของจิต ที่มีความบริสุทธิ์ (ประภัสสร) ไว้ได้ อย่าต่อเนื่องจนไม่มีช่องว่างให้จิตต้องเสียความเป็นปรกติไป อย่างนี้เรียกว่า จิตถึงซึ่ง วิชชา และ วิมุตติ แล้วโดยสมบูรณ์

     แต่ถ้าผู้ปฏิบัติมีการเผลอสติไปบ้างในบางครั้ง แสดงว่ายังสติยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่สติและปัญญาจะต้องเจริญไปพร้อมๆ กัน เพราะธรรมสองประการนี้เสริมกำลังซึ่งกันและกัน เมื่อรู้ว่าสติและปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นเป็น วิชชา และ วิมุตติ ก็ยังจะต้องพยายามปฏิบัติต่อไปอีก ยังเป็นเสขบุคคลคือผู้ที่ยังต้องปฏิบัติต่อไปอีก ยังเรียนไม่จบ ได้แก่พระอริยบุคคลชั้น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี จนกว่าจะมีสติ ปัญญา บริบูรณ์เต็มที่ ซึ่งก็คือพระอรหันต์ จำพวกเดียวท่านเป็นพระอเสขบุคคล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เรียนจบแล้ว ไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติเพื่อการเป็นอย่างนี้อีกต่อไป (เพื่อวิชชาและวิมุตติ)
     ในท้าย อนัตตลักขณสูตร กล่าวคุณพระอรหันต์เอาไว้ว่า “จิตของปัญจวัคคีย์ก็พ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี” 

หลวงพ่อพุทธทาส ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรียนพุทธศาสนาอย่างปัญญาชน ว่า

“หัวใจพุทธศาสนาจริงๆ นั้น กล่าวได้ว่า มีอยู่เพียงว่ามีการยึดมั่นในขันธ์หรือส่วนที่ประกอบกันเข้าเป็นชีวิตเมื่อใด ก็จะมีทุกข์เกิดขึ้นเมื่อนั้น เพราะความยึดมั่นนั่นเอง เมื่อใดหรือที่ไหนไม่มีความยึดมั่น ก็ไม่มีความทุกข์ที่นั่นและเมื่อนั้น ดังนั้นเรื่องที่จะต้องเรียนก็คือ เรียนให้รู้ให้เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นคือมั่นและเรื่องที่จะต้องปฏิบัติ ก็คือปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง แต่บัดนี้มีการขยายเรื่องมากออกไป ไกลออกไปจนไม่เกี่ยวกับเรื่องความยึดมั่นถือมั่นมากเข้าๆ จนตัวแท้ของพุทธศาสนาถูกละเลยและมองข้ามจนกลายเป็นหมันไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับคนทั่วไป…”

     โลกนี้มีพระพุทธศาสนาเพื่อ ทำลายเข่นฆ่า สิ่งเหล่านี้มิให้เหลือ คือ ความหลอกลวง การเบียนเบียน พิธีรีตอง โชคชะตาราศี ไสยศาสตร์ เมาสวรรค์ เมาตำรา เมาอาจารย์ เมาศาสนา เมาอัตตาตัวตน สิ่งเหล่านี้หมดไปจากจิตใจเรามากเท่าใด ความเป็นพุทธบริษัทของเราก็จะสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น” (พุทธทาสภิกขุ)

ดวง จิต จะสะดุด พบพุทธะ
ตา ธรรม จะเกิด ประเสริญยิ่ง
เห็น ชีวิตตาม ความเป็นจริง
ธรรม สามสิ่ง สะอาด สว่าง สงบ พบพุทธเอย.
ขอความมี ดวงตาเห็นธรรม จงมีแด่ผู้อ่านทุกท่านเทอญ... เจริญพร


หมายเหตุ

     ผู้ที่มีความประสงค์จะศึกษาโลกุตรธรรม เพื่อสันติสุขส่วนบุคคล และสันติภาพส่วนสังคม และสันติภาพของโลก เพื่อสืบต่ออายุพุทธศาสนาได้ที่เต็นท์ศูนย์เผยแผ่โลกุตรธรรมแห่งประเทศไทย ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาวันวิสาขบูชา วันมาฆบชา ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ได้ทุก ๆ ปี และที่
ศูนย์โลกุตรธรรมแห่งประเทศไทย
กุฏิ ๒๐ วัดกระโจมทอง ถ.บางกรวย-ไทยน้อย ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ๑๑๑๓๐โทร : ๐๘-๑๔๗๖-๑๔๕๕
http://ศูนย์โลกุตรธรรม.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น