วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม 7


ดวงตาเห็นธรรม 7
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
   
         การแปลภาษาบาลีให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามีการแปลผิดพลาดหรือแปลไม่หมดก็จะไม่เข้าใจ และอาจจะสับสนในการปฏิบัติได้ ฉะนั้นจึงต้องแปลให้ถูกและแปลให้หมด ที่สำคัญเราต้องตรวจสอบด้วยการดูสภาวะธรรมต่างๆ ด้วยตาปัญญาของเราเองด้วย ไม่ใช่เอาแต่เชื่อตำราอย่างเดียว คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตสามารถพิสูจน์ได้ตลอดเวลา

         การแปลคำว่าวิญญาณก็เช่นเดียวกัน ต้องแปลให้หมดจะเข้าใจง่าย เช่นเราสวดมนต์แปลว่า วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณัง อนัตตา ที่แปลกันอยู่ทั่วไปว่า วิญญาณ ไม่เที่ยง วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน ใช่หรือไม่? เป็นการแปลไม่หมด เพราะคำว่าวิญญาณยังไม่ได้แปล คำว่าวิญญาณเป็นภาษาบาลี แปลว่า รู้ หรือ การรับรู้ (consciousness) การแปลที่ถูกต้องจะต้องแปลว่า การรับรู้ไม่เที่ยง การรับรู้ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้ทำให้เข้าใจง่าย และเมื่อดูสภาวะธรรมจริงๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้น การรับรู้ เช่นการเห็นรูป การได้ยินเสียง ฯ นั้นไม่เที่ยง เป็นสังขตธรรม เกิดดับอยู่เสมอ เป็นไปตามเหตุปัจจัย บังคับบัญชามันไม่ได้ มันจึงไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) แต่ปัจจุบันมีการเพี้ยนไปว่า วิญญาณเป็นตัวตน (Soul) กันทั่วประเทศใช่หรือไม่?


วิญญาณพุทธนั้นหรือคือธาตุรู้

ไม่มีอยู่ในคนตายคลายสงสัย
เมื่อตายแล้ววิญญาณลับดับตามไป
ตามร่างกายสลายได้อนิจจัง
ถ้ายึดมั่นมันแต่น้อยไม่ค่อยทุกข์
ไม่ยึดเลยย่อมเป็นสุขเกษมศรี
ถอนอุปาทานขันธ์นั้นเป็นยอดดี
เป็นจุดหมายชาวพุทธชี้ชาตินี้เอย.
(พลตรีเดช ตุลวรรธนะ)



        ทุกข์นั้นมี ๒ อย่างคือ ๑.ทุกข์กาย (กานยิกทุกข์) ๒.ทุกข์ใจ (เจตสิกทุกข์) ทุกข์กายนั้นแก้ไขไม่ได้ แต่ทำให้บรรเทาลงได้บ้างเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ทุกข์ที่แก้ไขได้คือ ทุกข์ใจ หรือ ทุกข์อุปทาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้        ดับทุกข์อุปทานเท่านั้น ส่วนทุกข์กายนั้นจะต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล แม้แต่พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นทุกข์กาย ก็ยังต้องไปหาหมอชีวกโกมารภัทท์ให้รักษา
        อุปทานขันธ์มาจากไหน? ตอบ มาจาก อหังการ และ มมังการ แปลง่ายๆ ว่า ตัวเรา ของเรา มีหลักฐานอยู่ในมหาปุณมสูตร มีอัสสาทะ และฉันทะ เป็นเรื่องนำเข้า และมีอาทีนวะและนิสสรณะเป็นเครื่องนำออก สรุปรวมลงในคำว่า “ชาติ” ใน ปฏิจจสมุปบาทสายสมุทยวาร ซึ่งมีอวิชชาเป็นเจตสิกเหตุ แต่ถ้าเปลี่ยนการกระทบอารมณ์ด้วย อวิชชา มาเป็นกระทบอารมด้วยวิชชา ก็จะไม่เกิดตัณหาอุปาทานภพชาติ และความทุกข์ทั้งปวง โปรดพิจารณาคำกลอนของหลวงพ่อพุทธทาสดังนี้.-
       อันความจริงตัวเรานั้นไม่มี (โดยแท้จริงแล้วไม่มีอัตตาตัวตนที่แท้จริงมีแต่อัตตาโดยสมมุติเท่านั้น)
แต่พอโง่ตัวเรามีขึ้นมาได้   (คือมีอวิชชาแล้วก็มีอัตตวาทุปาทานขึ้นมาครั้งหนึ่ง)  พอหายโง่ตัวเราก็หายไป    (คือมีวิชชาก็ไม่เกิดอัตตวาทุปาทาน)หมดตัวเราเสียได้เป็นการดี (คือเมื่อหมดอัตตวาทุปาทานได้ก็หมดทุกข์ใจ)
       ดังมีพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “อัสสมิมานัสสะ วินโย เอตังเว ปรมัง สุขัง” ผู้ที่ถอนความสำคัญมั่นหมายว่าตัวตนมีอยู่ เป็นสุขอย่างยิ่ง
       หัวใจของพระพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้สรุปลงให้สั้นแล้วรวมอยู่ในพุทธภาษิตประโยคที่ว่า

      “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” ธรรมทั้งหลายไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น

      “ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์น้อยเพราะพลอย ทุกข์หลุดเพราะปล่อย” (นิรนาม)
      “ขณะใดจิตไม่มี ตัวกู นิพพานก็ปรากฏอยู่ ณ จิตนั่น พอ ตัวกู เกิดขึ้นได้ในจิตนั้น
       สังสารวัฏฏ์ก็พลันปรากฎแทน”
                                                     (พุทธทาสภิกขุ)
       ดวงตาเห็นธรรม เห็นอะไรเห็นอย่างไร? พอสรุปได้ว่า ดวงตาเห็นธรรมจะต้องมีความเห็นถูก ๕ ประการคือ
๑. เห็นการเกิดที่เป็นทุกข์ได้ถูก ว่าเกิดทุกข์คือเกิดอุปาทานขันธ์
ก. ทุกข์ใจมี เพราะมีเรา เรามีเพราะมีชีวิต (ภาษาคน)
ข. ทุกข์ใจมี เพราะมีเรา เรามีเพราะมีอุปาทาน (ภาษาธรรม)
๒. เห็นทุกข์ที่แก้ไขได้อย่างถูกต้อง
ก. ทุกข์ลักษณะ ได้แก่ความแก่ ความตาย
ข. ทุกข์เวทนา ได้แก่ความเจ็บ
ค. ทุกข์อุปาทาน ได้แก่ ความรู้สึกเป็นทุกข์ว่า เราแก่ เราเจ็บ เราตาย ฯลฯ
๓. เห็นถูกว่าการเกิดที่เป็นภัยได้ถูกต้อง
ก. เกิดชีวิต ข. เกิดวิญญาณ ค.เกิดกิเลส
๔. เห็นกรรมและผลของกรรมได้ถูกต้อง
ก. เจตนาเป็นกรรม (คือจิตที่คิดแล้วมีกิเลสดีกิเลสชั่วเข้าร่วมด้วย)
ข. คนเป็นๆ มีกรรม คนตายหมดกรรม
ค. คนตายมีวิญญาณไปเกิดอีกมีกรรม คนตายไม่มีวิญญาณไปเกิดอีกหมดกรรม
     เห็นกรรมและผลของกรรมถูกต้อง คือความคิดที่มีกิเลสดีหรือชั่วเข้าร่วมด้วย ถ้าคิดดี กิเลสดี กรรมดี ถ้าคิดชั่ว กิเลสชั่ว กรรมชั่ว ถ้าคิดแต่ไม่มีกิเลส สิ้นกรรม เช่นการคิดของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่เรียกว่ากรรม แต่เป็นกิริยา และปฏิกิริยา เท่านั้น การสิ้นกิเลส คือการสิ้นกรรม เมื่อสิ้นกรรม ก็สิ้นภพสิ้นชาติ

๕. เห็นการเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติและการสิ้นภพสิ้นชาติได้ถูก
ก. เปลี่ยนภพชาติที่รูปร่างหน้าตา
ข. เปลี่ยนภพชาติที่ตายแล้ววิญญาณไปเกิดใหม่
ค. เปลี่ยนภพชาติที่กิเลส เปลี่ยนได้ตอนเป็นๆ

       เห็นการเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติถูกต้อง กรรมจำแนกสัตว์และกิเลสคือกรรม กิเลสดีกรรมดี ภพชาติดี เป็น มนุษย์ เทวดา นางฟ้า สวรรค์ กิเลสชั่วกรรมชั่วภพชาติชั่ว สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน ถ้าหมดกิเลสก็สิ้นภพสิ้นชาติ ไม่ต้องเกิดกิเลสขึ้นกับจิตอีกต่อไป เมื่อเห็นถุกอย่างนี้ก็จะไม่ให้มีกิเลสชั่ว ที่เบียดเบียนตนเองเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน จะเอาแต่กิเลสดี จะได้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นแต่ยังเบียดเบียนตนเองอยู่ เมื่อยังมีกิเลสก็ยังมีทุกข์ เมื่อเห็นว่ากิเลสดียังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ยังมีความทุกข์อยู่ คนดียังมีทุกข์ คนชั่วก็มีทุกข์ คนรวยก็มีทุกข์แบบคนรวย คนจนก็มีทุกข์แบบคนจน ตราบใดที่คนยังมีกิเลสคนนั้นต้องมีทุกข์ และมีกรรม ก็น้อมไปประพฤติพรหมจรรย์คือทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส เมื่อหมดกิเลสก็หมดทุกข์หมดกรรมๆ ไม่ใช่ตาย แต่มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เลย เมื่อไม่มีกิเลสรบกวนจิตใจทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ก็จะถึงความสุขเย็นเป็น “นิพพาน” ซึ่งเป็นความสุขที่แท้ ที่เที่ยงของมนุษย์

๖. การสิ้นภพสิ้นชาติที่ถูกต้อง
ก. การสิ้นชีวิต
ข. การสิ้นวิญญาณ
ค. การสิ้นกิเลส

๗. เห็นสุขที่เที่ยงได้ถูก
ก. เป็นโรคคันแล้วต้องเกา
ข. หมดโรคคันแล้วไม่ต้องเกาอีกต่อไป
เห็นสุขที่แท้สุขที่เที่ยงได้ถูก คือ นิพพาน ความดับอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน เสียได้ความทุกข์ก็หมดไป และสภาพที่ไม่มีความทุกข์นั่นแหละคือ นิพพาน แปลว่า ดับเย็นจากกิเลส ที่เรียกว่าสุขแท้เพราะไม่เจือด้วยความทุกข์ ที่เรียกว่าสุขที่เที่ยงเพราะไม่กลับกลายมาเป็นทุกข์ได้อีกต่อไป

๘. เห็นถูกว่าคนเป็นๆ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ.-
ก. กายสังขาร (ร่างกาย)
ข. จิตสังขาร (จิตใจ) พระอรหันต์ยังมี
ค. เจตสิกสังขาร (กิเลส) พระอรหันต์ไม่มี

๙.เห็นการเวียนว่ายและการพ้นเวียนว่ายได้ถูกต้องตามหลักพุทธศาสตร์
ก. การเวียนว่ายชีวิต
ข. การเวียนว่ายวิญญาณ
ค. การเวียนว่ายกิเลส


นิพพาน มี ๒ อย่าง คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือดับอุปาทาน (ทุกข์ใจ) ได้บ้างยังมีเศษเหลือ เรียกว่า ปริยายสุทธิ (Partial purity)

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับอุปาทาน (ทุกข์ใจ) ได้หมดไม่มีเศษเหลือ เรียกว่า นิปปริยายสุทธิ (Absolute purity)
สังโยชน์ข้อที่ ๑. คือ สักกายทิฏฐิ
คือเห็นการเกิดที่เป็นทุกข์ผิด เช่นเห็นว่าเกิดชีวิต เกิดวิญญาณ เป็นต้น พระโสดาบันจะต้องละให้ได้ คือต้องเห็นการเกิดที่เป็นทุกข์ได้ถูกคือเกิดอุปาทาน

สังโยชน์ข้อที่ ๒ คือวิจิกิจฉา
แปลว่าความลังเลสงสัย เมื่อก่อนไม่เคยได้ฟังธรรมะในแนว โลกุตรธรรม เมื่อได้ฟังใหม่ๆ ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ ยังมีความสงสัยลังเลอยู่ สักระยะหนึ่งก่อน ยังละวิจิกิจฉาไม่ได้ ต่อมาได้พิจารณาดูด้วยปัญญาของตนเองบ่อยๆ ก็จะหายสงสัย คือละ วิจิกิจฉา ได้นั่นเอง

สังโยชน์ข้อที่ ๓ คือ สีลัพพตปรมาส
แปลว่า วิธีการดับทุกข์ผิดๆ เมื่อยังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อเกิดความทุกข์ก็จะคิดดับทุกข์ผิดๆ เช่นฆ่าตัวตาย ปฏิบัติเคร่งในศีลพรตแปลกๆ ทำสมาธิเข้าฌานสำคัญว่าสมาธิดับทุกข์ได้ บางคนเมื่อเกิดทุกข์ก็ไปพึ่งผีสางเทวดาเจ้าพ่อเจ้าแม่ พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พึ่งรูปเคารพเช่นพระพุทธรูปต่างๆ เป็นต้น เป็น ลัทธิบูชารูปเคารพ (Idolatry) แต่พระโสดาบันเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงแล้ว ย่อมไม่พึ่งสิ่งเหล่านี้แต่จะพึ่งพระธรรมเพียงอย่างเดียว คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในตัวเราเอง เอาพระธรรมเป็นที่พึ่งไม่พึ่งสิ่งภายนอกอีกต่อไป ดังบทสวดมนต์ที่ว่า นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง เราไม่มีที่พึ่งอื่นใด ธัมโม เม สะระณัง วะรัง เราถือเอาพระธรรมเป็นสรณะที่พึ่ง การที่พูดว่าถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งนั้นเมื่อย่อลงเหลือ ๑ ก็คือพระธรรมนั่นเอง

      แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังเคารพพระธรรม


พระพุทธ คือ ผู้ปฏิบัติถึงความบริสุทธิ์แล้ว

พระธรรม คือ ความบริสุทธิ์
พระสงฆ์ คือ ผู้ที่กำลังปฏิบัติเพื่อให้ถึงความบริสุทธิ์
กล่าวอีกนัยยะหนึ่งว่า พระพุทธ คือ ผู้ที่ดับทุกข์ได้แล้ว
พระธรรม คือ ความดับทุกข์
พระสงฆ์ คือ ผู้ที่กำลังปฏิบัติเพื่อถึงซึ่งความดับทุกข์

อย่าให้คัมภีร์บังพระธรรม
อย่าให้ทองคำบังพระพุทธ
อย่าให้สงฆ์สมมุติบังพระสงฆ์
ไหว้พระพุทธระวังสะดุดทองคำ
ไหว้พระธรรมระวังขยำเอาใบลาน
ไหว้พระสงฆ์ระวังจะถูกลูกชาวบ้าน

      การพึ่งพาสิ่งภายนอก หรือวัตถุต่างๆ การอ้อนวอนเทวดา เจ้าพ่อเจ้าแม่นั้นไม่ใช่ลักษณะของพุทธบริษัท ดังมีบทสวดมนต์ เขมาเขมทีรณทีปิกคาถา รับรองไว้ว่า “มนุษย์เป็นอันมากเมื่อถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถือเอาป่าไม้บ้าง ภูเขาบ้าง อาราม และรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ นั่นมิใช่สรณะกันเกษมเลย นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้วย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง แต่ผู้ใดถือเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เห็นอริยสัจสี่คือเห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และอริยมรรคมีองค์แปดเครื่องถึงซึ่งความระงับทุกข์ นั่นคือที่พึงอันเกษม ที่พึ่งอันสูงสุด เมื่อเขาอาศัยสรณะนี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น