วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อบรมโลกุตรปัญญา สู่ดวงตาเห็นธรรมทุกวันอาทิตย์


อบรมโลกุตรปัญญาดวงตาเห็นธรรม

ดวงตาเห็นธรรม 10


ดวงตาเห็นธรรม 10 (จบหลักสูตร)
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
     พุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ทำให้คนเป็นบ้า แต่จะทำให้คนบ้าหายบ้ากลับมาเป็นคนดี และทำคนดีให้เป็นพระอริยบุคคล ยกตัวอย่างนางปฏาจารา เล่าสั้นๆ ว่าเธอเคยเป็นลูกสาวเศรษฐีมีฐานะร่ำรวยมาก แต่ต้องเป็นบ้าเพราะกระทบกับอารมณ์อันหนักเธอต้องสูญเสียทุกอย่าง ทั้งสามี ลูกน้อยอีก ๒ คน พ่อแม่พี่ชาย และบ้านก็ถูกไฟไหม้ หมดที่พี่งทุกสิ่งทุกอย่าง เธอมีความทุกข์ใจมากจนผู้หญิงคนหนึ่งรับสภาพนั้นไม่ได้ เธอจึงกลายเป็นคนวิกลจริตไปในที่สุด เธอไม่รู้สึกตัวขาดสติ ไม่มีความละอาย แก้ผ้าเดินอยู่ตามถนนในเมืองสาวัตถี ต้องขอทานเขากินไปวันๆ หนึ่ง ไปที่ไหนก็ถูกเขาไล่ถูกคนรังเกียจ แต่เธอกลับเป็นผู้หญิงที่โชคดีมากเมื่อเธอได้พบพระพุทธเจ้า และได้ฟังคำสอนจากพระองค์ เธอได้สติ อาบน้ำชำระกายให้สะอาด นุ่งผ้าให้เรียบร้อยเพื่อเข้าสังคม เธอตั้งใจรับคำสอนจากพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเธอ ไม่นานเธอก็ได้บวชเป็นภิกษุณี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา เธอได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้ที่เลิศทางพระวินัย

     อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องพระสุปปพุทธะ เดินท่านเป็นคนขอทานเป็นโรคเรื้อน ต้องถือกระเบื้องไปขอทานเขากิน ไปไหนก็มีแต่คนรังเกียจ วันหนึ่งท่านถือกระเบื้องขอทานไม่ได้อาหารเลย ไปเห็นกลุ่มพระสาวกซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ก็คิดว่าอาจจะมีอาหารเหลืออยู่บ้าง เมื่อเข้าไปใกล้ก็ถูกพระสาวกไล่ พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสาวกไม่ให้ไล่ สุปปะพุทธะเห็นว่าไม่มีอาหารแน่แล้วก็เลยวางกระเบื้องตั้งใจฟังธรรม เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบ สุปปพุทธะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อหน้าพระพักตร์นั่นเอง นี่แสดงให้เห็นว่าความลำบากยากจน ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเจริญปัญญาสัมมาทิฏฐิในพระพุทธศาสนาเลย

ดวงตาเห็นธรรม 9


ดวงตาเห็นธรรม 9
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
    ทุกข์แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ 
๑. ทุกข์กาย (กายิกทุกข์ Bodily pain) ประกอบด้วย ก.ทุกขลักษณะ ได้แก่ เกิด แก่ ตาย เป็นต้น ข.ทุกขเวทนา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกอย่างนี้เป็นคุณสมบัติของชีวิต เมื่อมีชีวิตก็ต้องมีทุกข์กายเป็นธรรมดา เมื่อมีความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องไปหาหมอให้รักษา ทุกข์กายนี้ เป็นทุกข์ที่แก้ไขไม่ได้ เพียงแต่ให้บรรเทาลงได้บ้างก็เป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายไม่มีใครพ้นได้แม้แต่พระพุทธเจ้าก็จะต้องปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปี

๒. ทุกข์ใจ (เจตสิกทุกข์ Mental pain) เรียกว่า ทุกข์อุปาทาน คือทุกข์ที่เกิดจากความรู้ผิด (อวิชชา) เห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) และจำเอาไว้ผิดๆ (สัญญาวิปลาส) แล้วยึดมั่นในสิ่งผิดๆ นั้นอย่างเหนียวแน่น โดยไม่รู้ตัว (อุปาทาน) ผลก็คือเกิดความทุกข์ใจเพราะความยึดมั่นนั้นๆ ทุกข์เช่นนี้เรียกว่าทุกข์ใจ ๆ นั้นเป็นทุกข์ที่แก้ไขได้ ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ดับ คือทุกข์ใจเท่านั้น ไม่ได้สอนให้ดับทุกข์กาย และการดับทุกข์ใจให้ได้นั้น จะมีวิธีเดียวคือต้องใช้โลกุตรปัญญา หรือปัญญาสัมมาทิฏฐิเท่านั้น จะใช้โลกียปัญญาดับทุกข์ใจหาได้ไม่

    ทุกข์อุปาทานนี้ในบทสวดมนต์สังเวคปริกิตตนปาฐะเรียกว่า สังขิเตนะ ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา ว่าโดยย่อการเข้าไปยึดขันธ์ห้าว่าเป็นเราเป็นทุกข์ ปัญจุปาทานขันธาทุกขา มาจากคำ ๓ คำ คือ ปัญจขันธ์ - อุปาทาน - ทุกขา รวมความแปลว่าการเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ห้าหรือขันธ์หนึ่งขันธ์ใด ว่าเป็นเรา เป็นของเราเป็นทุกข์ อุปาทานขันธ์ จึงเป็นทุกข์รวบยอดของพระพุทธศาสนา เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ไม่มีในลัทธิศาสนาอื่นๆ แต่มีชาวพุทธส่วนหนึ่งนำเอาตัวทุกข์นอกศาสนามาสอน เช่นอธิบายคำว่าชาติผิดๆ ว่า ชาติ คือการเกิดชีวิตจากท้องมารดา คือการเกิดมาของขันธ์ห้านี่แหละเป็นตัวทุกข์ การสอนเช่นนี้จึงนำไปสู่การดับทุกข์ที่ผิด คือการฆ่าตัวตายทำลายชีวิต เพื่อดับชีวิต (ขันธ์ห้า) จะได้หมดทุกข์ อย่างนี้เป็น สีลัพพตปรามาส (สังโยชน์ข้อ ๓) มีแต่ปุถุชนเท่านั้นที่เห็นผิดและปฏิบัติผิดเช่นนี้ ส่วนพระโสดาบันนั้นละสังโยชน์ ๓ ได้แล้วจึงไม่ฆ่าตัวตายอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์มากสักเพียงใดก็ไม่ฆ่าตัวตาย เพราะเห็นถูกแล้วว่า ทุกข์ใจต้องดับที่ใจ ไม่ใช่ดับที่กาย รุ้ว่าทุกข์ใจคือ อุปาทานขันธ์ จึงดับทุกข์ใจด้วยการดับอุปาทานขันธ์ ทุกครั้งไปเมื่อปฏิบัติถูกเช่นนี้ บ่อยๆ ก็จะทำให้ถึงนิพพานเร็วขึ้น และไม่ต้องเสียชีวิตไปในวัยที่ไม่สมควร ฉะนั้นการไม่ฆ่าตัวตายเพื่อดับทุกข์จึงเป็นอานิสงส์ของการได้ดวงตาเห็นธรรมประการหนึ่งด้วย

ดวงตาเห็นธรรม 8


ดวงตาเห็นธรรม 8
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
        จะดับทุกข์ทั้งปวงได้ก็จะต้องเจริญปัญญาและต้องศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นระบบ อย่างมีเหตุผล เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (Truth investigation) และจะต้องตั้งอยู่ในหลัก สวากขาตธรรม ซึ่งเป็นหลักตัดสินพระธรรมของพระพุทธเจ้า ๕ ประการ และเป็นลักษณะของโลกุตรธรรม ที่พุทธบริษัททุกคนจะต้องรู้และนำมาใช้ใน ชีวิตประจำวันคือ

๑. สันทิฏฐิโก เห็นได้ด้วยปัญญาตนเอง ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น
๒. อกาลิโก ทำเมื่อไรได้รับผลทันทีไม่ต้องรอเวลา
๓. เอหิปัสสิโก เรียกให้มาดูความจริงกันได้ พิสูจน์ได้
๔. โอปนยิโก ทำให้มีขึ้นในใจตนเองได้
๕. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน รู้แทนกันไม่ได้

        เมื่อตนเองรู้เองเห็นเองแล้ว (สันทิฏฐิโก) ก็ไม่ต้องเชื่อใครพูด ไม่ต้องเชื่อเขาว่าอีกต่อไป และทุกคนจะต้องทำเอง ผู้รับประทานอาหารเองย่อมรู้รสอาหารเอง ผู้อื่นจะทานอาหารแต่ให้ผู้อื่นรู้รสแทนไม่ได้ ผู้ใดต้องการจะรู้รสอาหารผู้นั้นจะต้องทานเอง ให้กันก็ไม่ได้ จะใช้เงินซื้อเอาไม่ได้ จะให้ผู้อื่นทำแทนเราก็ไม่ได้ ดังมีพุทธภาษิตว่า “ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์นั้นเป็นของจำเพาะตน ผู้อื่นทำให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ไม่ได้” และ “ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้นส่วนความเพียรนั้นเธอต้องทำเอง”

        การปฏิบัติใน โลกุตรธรรม จะได้รับผลในชีวิตปัจจุบัน นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี คำสอนใดๆ ที่สอนให้รับผลหลังตายนั้นไม่มีไม่ใช่พระพุทธศาสนาเพราะ ไม่เป็น อกาลิโก (ไม่ขึ้นต่อกาลเวลา) ต้องขึ้นอยู่กกับกาลเวลา ไม่เป็น สันทิฏฐิโก เพราะพิสูจน์ไม่ได้ ไม่เป็น โอปนยิโก น้อมนำเข้ามาในตัวไม่ได้ และไม่เป็นประโยชน์อะไรกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนานั้นมีพุทธประสงค์เพื่อช่วยให้มนุษย์โลกได้พ้นทุกข์ทางใจใช่หรือไม่? เมื่อทุกข์ใจมีอยู่ที่คนเป็นๆ ขณะที่มีชีวิตอยู่ เพราะยังมีกิเลสยังมีทุกข์ ก็ดับกิเลสดับทุกข์เสีย ตอนที่ยังเป็นๆ และจะได้มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีความทุกข์เลย มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นตัวอย่าง
        ผู้ที่ได้ ดวงตาเห็นธรรม ก็จะมีปัญญาหยั่งรู้ได้เฉพาะตนเป็น ปัจจัตตัง จะรู้ผู้อื่นไม่ได้ ผู้อื่นจะรู้แทนไม่ได้ การเป็นพระโสดาบันเป็นผู้เข้ากระแสนิพพานเป็น โลกุตตรภูมิ ขั้นต้น ต่อไปก็จะพัฒนาปัญญาสัมมาทิฏฐิให้สูงขึ้นไปเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้นไปได้เอง การได้ดวงดาเห็นธรรมจึงเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง มีจิตมั่นคงในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อย่างยิ่ง ตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ ดวงตาเห็นธรรม นั้น ยังเป็นพุทธแต่ปาก จึงยังไม่มั่นคงในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เมื่อเกิดความทุกข์ก็จะพึ่งสิ่งภายนอกต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง พึ่งแล้วก็ไม่พ้นไปจากทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้นานเข้าก็จะเสื่อมศรัทธาต่อพุทธศาสนาเพราะเห็นว่าช่วยให้ดับทุกข์ไม่ได้ อาจหันไป
        พึ่งเจ้าพ่อเจ้าแม่ ผีสางนางไม้ เทวดา หมอดู ร่างทรง ฯ เมื่อพึ่งไม่ได้อีก ก็หันไปหายาเสพติดให้โทษต่างๆ เป็นการเพิ่มทุกข์และซ้ำเติมตัวเอง เมื่อเป็นทุกข์มากๆ อาจจะต้องฆ่าตัวตายหรือไม่ก็เปลี่ยนไปนับถือลัทธิหรือศาสนาอื่นได้โดยง่าย ปัจจุบันนี้ มีลัทธิต่างๆ จากต่างประเทศ เช่นไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา แม้แต่ลัทธิแม่มดหมอผีในยุโรปสมัยกลางชื่อว่าลัทธิ “วิกก้า” ซึ่งสมัยนั้นมีโทษหนักถูกจับไปประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นหลายพันคน ก็มีผู้นำมาเผยแพร่กันในประเทศไทยอย่างเปิดเผยแล้ว และกำลังเป็นที่นิยมกันในหมู่วัยรุ่นคนหนุ่มคนสาว จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงลูกหลานมากขึ้นอีก และจะกระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยด้วย


ดวงตาเห็นธรรม 7


ดวงตาเห็นธรรม 7
                                                                               พระอาจารย์เมธา ชาตเมโธ
     
   
         การแปลภาษาบาลีให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามีการแปลผิดพลาดหรือแปลไม่หมดก็จะไม่เข้าใจ และอาจจะสับสนในการปฏิบัติได้ ฉะนั้นจึงต้องแปลให้ถูกและแปลให้หมด ที่สำคัญเราต้องตรวจสอบด้วยการดูสภาวะธรรมต่างๆ ด้วยตาปัญญาของเราเองด้วย ไม่ใช่เอาแต่เชื่อตำราอย่างเดียว คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตสามารถพิสูจน์ได้ตลอดเวลา

         การแปลคำว่าวิญญาณก็เช่นเดียวกัน ต้องแปลให้หมดจะเข้าใจง่าย เช่นเราสวดมนต์แปลว่า วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณัง อนัตตา ที่แปลกันอยู่ทั่วไปว่า วิญญาณ ไม่เที่ยง วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน ใช่หรือไม่? เป็นการแปลไม่หมด เพราะคำว่าวิญญาณยังไม่ได้แปล คำว่าวิญญาณเป็นภาษาบาลี แปลว่า รู้ หรือ การรับรู้ (consciousness) การแปลที่ถูกต้องจะต้องแปลว่า การรับรู้ไม่เที่ยง การรับรู้ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้ทำให้เข้าใจง่าย และเมื่อดูสภาวะธรรมจริงๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้น การรับรู้ เช่นการเห็นรูป การได้ยินเสียง ฯ นั้นไม่เที่ยง เป็นสังขตธรรม เกิดดับอยู่เสมอ เป็นไปตามเหตุปัจจัย บังคับบัญชามันไม่ได้ มันจึงไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) แต่ปัจจุบันมีการเพี้ยนไปว่า วิญญาณเป็นตัวตน (Soul) กันทั่วประเทศใช่หรือไม่?


วิญญาณพุทธนั้นหรือคือธาตุรู้

ไม่มีอยู่ในคนตายคลายสงสัย
เมื่อตายแล้ววิญญาณลับดับตามไป
ตามร่างกายสลายได้อนิจจัง
ถ้ายึดมั่นมันแต่น้อยไม่ค่อยทุกข์
ไม่ยึดเลยย่อมเป็นสุขเกษมศรี
ถอนอุปาทานขันธ์นั้นเป็นยอดดี
เป็นจุดหมายชาวพุทธชี้ชาตินี้เอย.
(พลตรีเดช ตุลวรรธนะ)